คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนและอายุบิดาที่น้อยเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_1606

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? หากมารดาตั้งครรภ์โดยไม่ได้มีการวางแผนหรือเป็นการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ จะพบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอด โดยเฉพาะในมารดาที่อายุน้อยหรือมารดาวัยรุ่น ซึ่งจะส่งผลต่อการมีความเสี่ยงที่จะเกิดทารกน้ำหนักตัวน้อยหรือคลอดก่อนกำหนดได้ เมื่อทารกมีภาวะแทรกซ้อนมักมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต ทำให้เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ บิดาที่เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากเป็นการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบิดาก็จะน้อย และมักพบบิดาที่อายุน้อยร่วมกับการที่มารดาอายุน้อยหรือมารดาวัยรุ่น ซึ่งความรับผิดชอบหรือการให้การสนับสนุนมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะน้อยด้วย มีการศึกษาถึงความตั้งใจของบิดาต่อการตั้งครรภ์และผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า หากการตั้งครรภ์เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจและบิดาอายุน้อยจะมีผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallenborn JT, Masho SW, Ratliff S. Paternal Pregnancy Intention and Breastfeeding Duration: Findings from the National Survey of Family Growth. Matern Child Health J 2017;21:554-61.

 

ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานแค่ไหน จึงลดความเสี่ยงที่ลูกจะอ้วนได้

img_2095

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? เป็นที่ทราบกันดีว่า การให้ลูกกินนมแม่จะช่วยให้ลูกลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอ้วนเมื่อเจริญเติบโตขึ้น เนื่องจากลักษณะของการกินนมแม่จะช่วยสร้างนิสัยการกินนมแม่เมื่อทารกมีอาการหิว และทารกสามารถมีส่วนร่วมในการควบคุมการดูดและการกินนมด้วยตนเอง ซึ่งจะสร้างลักษณะที่เหมาะสมในการกินอาหาร ซึ่งจะแตกต่างจากการป้อนนมผงดัดแปลงสำหรับทารกทุกครั้งที่ทารกร้อง แต่ต้องฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับลักษณะการกินนมแม่นานแค่ไหน มีการศึกษาพบว่า หากให้ลูกได้กินนมแม่นานอย่างน้อย 4 เดือนจะช่วยลดความเสี่ยงที่ทารกจะอ้วนเมื่อทารกอายุ 4 ขวบได้ประมาณร้อยละ 50 หรือลดได้ถึงครึ่งหนึ่งของความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอ้วน1 อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ด้วย ดังนั้น การแนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังคงเน้นให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้น ให้อาหารเสริมตามวัยร่วมกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallby T, Lagerberg D, Magnusson M. Relationship Between Breastfeeding and Early Childhood Obesity: Results of a Prospective Longitudinal Study from Birth to 4 Years. Breastfeed Med 2017;12:48-53.

การเพิ่มให้ความรู้เรื่องนมแม่หลังคลอดด้วย ช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้

IMG_3535

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ?การให้ความรู้แก่มารดาและครอบครัวมีความสำคัญต่อการตัดสินใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเริ่มการให้ความรู้ การเน้นให้เห็นถึงความสำคัญในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ และให้ความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อการเตรียมตัว เตรียมความพร้อมของมารดาและครอบครัวเพื่อที่จะเริ่มให้ลูกได้กินนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด นอกจากนี้ การติดตามให้ความรู้เพิ่มเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาที่พบบ่อยหลังคลอดยังช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย โดยมีการศึกษาการให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอดที่สัปดาห์ที่สองและสัปดาห์ที่หกหลังคลอดเพิ่มเติมจากการสอนในระยะก่อนคลอดพบว่า ช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนได้1 สิ่งนี้ย้ำให้เห็นถึงความต่อเนื่องของการติดตามการให้ความรู้เป็นระยะๆ จะช่วยเพิ่มให้มารดาเข้าใจประโยชน์และสามารถแก้ไขปัญหาการปฏิบัติในการคงความต่อเนื่องในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Vural F, Vural B. The effect of prenatal and postnatal education on exclusive breastfeeding rates. Minerva Pediatr 2017;69:22-9.

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

60

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ? การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ (skin-to-skin contact) มีประโยชน์ต่อทารกหลายอย่าง ตั้งแต่ช่วยให้ทารกสงบ อบอุ่น ลดการเกิดทารกตัวเย็น (hypothermia) ช่วยลดจำนวนวันของการนอนโรงพยาบาลของทารกที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต และช่วยให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงผลของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อที่ช่วยในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยพบว่า ทารกที่ได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด จะมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่สามเดือนหลังคลอดสูงกว่าทารกที่ไม่มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ1 ดังนั้น การรณรงณ์ช่วยสนับสนุนให้มารดาได้โอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด ควรได้รับการส่งเสริมให้เกิดเป็นวัตรปฏิบัติที่ทำกันอย่างเป็นขั้นตอนที่จำเป็นต้องดำเนินการในระยะแรกหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Vila-Candel R, Duke K, Soriano-Vidal FJ, Castro-Sanchez E. Effect of Early Skin-to-Skin Mother-Infant Contact in the Maintenance of Exclusive Breastfeeding. J Hum Lact 2017:890334416676469.

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกหลังคลอด

IMG_1470

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกหลังคลอดมีความสำคัญและช่วยเพิ่มอัตราและระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยทั่วไป แนะนำให้เริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงหลังคลอด อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยจากการสำรวจขององค์การยูนิเซฟในปี 2555 พบว่า การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดพบร้อยละ 43.6 ขณะที่อัตราการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดทั่วโลกพบร้อยละ 7.7-98.4 (เฉลี่ยร้อยละ 57.6)1 จะเห็นว่า อัตราการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรกของประเทศไทยด้วย สำหรับปัจจัยที่พบว่าส่งผลทำให้การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เริ่มต้นได้ช้ากว่าในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด ได้แก่ มารดาที่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์และการผ่าตัดคลอด1 โดยเฉพาะอัตราการผ่าตัดคลอดในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลของภาครัฐพบราวร้อยละ 40 และในโรงพยาบาลเอกชนพบถึงราวร้อยละ 80 ซึ่งน่าจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Takahashi K, Ganchimeg T, Ota E, et al. Prevalence of early initiation of breastfeeding and determinants of delayed initiation of breastfeeding: secondary analysis of the WHO Global Survey. Sci Rep 2017;7:44868.