คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

ปัจจัยเรื่องถิ่นที่อยู่และพฤติกรรมการกินของมารดามีผลต่อส่วนประกอบของนมแม่

IMG_1670

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ส่วนประกอบของนมแม่มีทั้งสารอาหารและสารที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ซึ่งส่วนประกอบของนมแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงตามระยะของการคลอดทารกและช่วงระยะเวลาหลังคลอด โดยทั่วไป สารอาหารหลักและพลังงานของนมแม่มักไม่แตกต่างกันในมารดาที่อาศัยอยู่ที่พื้นที่ที่แตกต่างกันและมีพฤติกรรมการกินที่แตกต่างกัน1 แต่สารอาหารที่พบน้อยบางชนิดอาจมีความแตกต่างกันจากผลของพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์ของการขาดสารอาหารบางประเภทหรือมีพฤติกรรมการกินอาหารที่แตกต่างกัน ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญและทำการศึกษาถึงความขาดแคลนสารอาหารในแต่ละชนิดที่อาจส่งผลต่อส่วนประกอบของนมแม่ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละพื้นที่หรือแต่ละประเทศ เพื่อการให้คำแนะนำเรื่องการเสริมการรับประทานอาหารให้เหมาะสม ชดเชยในสารอาหารที่มารดามีความเสี่ยงที่จะขาด ซึ่งจะช่วยให้ผลของการตั้งครรภ์ การเจริญเติบโตและความสมบูรณ์ของทารกเป็นไปด้วยดี

เอกสารอ้างอิง

  1. Sunaric S, Denic M, Lalic J, et al. Physicochemical and biochemical parameters in milk of Serbian breastfeeding women. Turk J Med Sci 2017;47:246-51.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ให้เคมีบำบัดระหว่างการตั้งครรภ์

img_2123

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? อุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งระหว่างการตั้งครรภ์ในสตรีพบราว 1 ใน 1000 ต่อการตั้งครรภ์1 ซึ่งในมะเร็งบางชนิดทางเลือกในการให้การรักษาอาจมีการให้เคมีบำบัดระหว่างการตั้งครรภ์ การให้เคมีบำบัดระหว่างการตั้งครรภ์มักมีผลทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความยากลำบาก เนื่องจากทำให้น้ำนมของมารดาน้อยลงหรือไม่มี การให้นมลูกของมารดาที่ได้รับเคมีบำบัด หากเว้นช่วงหลังการให้ยาเกิน 3 สัปดาห์ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถทำได้ เพราะระยะเวลา 3 สัปดาห์ยาเคมีบำบัดที่ใช้จะถูกกำจัดจากร่างกายมารดาหมด1 แต่หากมีการใช้ยาเคมีบำบัดหลังคลอด การให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากอาจมีอันตรายแก่ทารก มีรายงานทารกเกิดเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำหลังการกินนมจากมารดาที่ได้รับยา cyclophosphamide อย่างไรก็ตาม หากมารดาต้องการให้ลูกได้กินนมแม่ ควรมีการปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบถึงผลของการใช้ยาเคมีบำบัดในรายละเอียดแต่ละชนิด ขนาดของยาที่ผ่านน้ำนม รวมถึงผลเสียต่างๆ ที่มีรายงาน โดยทั่วไปมารดาอาจต้องใช้การบีบน้ำนมด้วยมือหรือการปั๊มนมในระยะหลังคลอดใหม่ๆ หรือในช่วงที่ยาเคมีบำบัดยังอยู่ในร่างกายของมารดาและผ่านน้ำนมไปสู่ทารก แต่เมื่อหยุดให้ยาแล้ว การเว้นระยะให้ร่างกายมารดาได้กำจัดยาเคมีบำบัด แล้วจึงพิจารณาการให้ทารกกินนมจากเต้านมมารดา สิ่งนี้แม้มีความยากลำบากแต่สามารถทำได้ โดยมีรายงานการให้นมลูกหลังการใช้ยาเคมีบำบัดพอสมควร

เอกสารอ้างอิง

  1. Stopenski S, Aslam A, Zhang X, Cardonick E. After Chemotherapy Treatment for Maternal Cancer During Pregnancy, Is Breastfeeding Possible? Breastfeed Med 2017;12:91-7.

 

ความสำคัญของนโยบายของสถานประกอบการกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

IMG_2943

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? การลาคลอดของสตรีที่สนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังมีความแตกต่างและเหลื่อมล้ำกันในหลากหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ 1 เดือนจนถึง 2 ปี เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ดังนั้น ในแต่ละประเทศในการสนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของสถานประกอบการในการเปิดโอกาสให้มารดาได้มีสถานที่และเวลาพักเพื่อการบีบเก็บน้ำนมให้แก่ลูก1 เมื่อมารดาตั้งกลับไปทำงานนอกบ้านหลังจากหมดช่วงระยะเวลาของการลาพักหลังคลอดแล้ว สิ่งนี้อาจถือความรับผิดชอบต่อสังคมหรือจิตสาธารณะของสถานประกอบการที่จะสร้างให้สมาชิกขององค์กรเกิดความจงรักภักดีแก่องค์กรและยังส่งผลที่ดีต่อภาพลักษณ์ขององค์กรด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Steurer LM. Maternity Leave Length and Workplace Policies’ Impact on the Sustainment of Breastfeeding: Global Perspectives. Public Health Nurs 2017.

 

การคุมกำเนิดหลังคลอดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_2940

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? หลังคลอดสตรีควรคุมกำเนิดเพื่อลดการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจหรือขาดการวางแผน ซึ่งการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจมีผลเสียและเพิ่มภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์และคลอดได้1 ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในวิธีการคุมกำเนิดแต่ละวิธีและผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยทั่วไป หากสตรีตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน การให้ลูกกินนมแม่ก็เป็นวิธีหนึ่งในการคุมกำเนิดได้ แต่ต้องยึดหลักว่าใช้ในช่วงหกเดือนแรกหลังคลอดเท่านั้นร่วมกับมารดาต้องให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวสม่ำเสมอ และมารดาต้องยังไม่มีประจำเดือนมาด้วย ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะสูง สำหรับมารดาที่มีข้อจำกัด การเลือกใช้การคุมกำเนิดโดยวิธีที่ไม่ใช้ฮอร์โมนก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ไม่กระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ การให้สามีใช้ถุงยางอนามัย การใส่ห่วงคุมกำเนิด แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมน การเลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียวควรเป็นทางเลือกในลำดับก่อนที่จะเลือกใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน โดยยาที่ใช้คุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว ได้แก่ ยาคุมกำเนิดที่ใช้ระหว่างการให้นมบุตร ซึ่งยี่ห้อที่มีอยู่ในท้องตลาด คือ Exluton และ Cerazette หรืออาจใช้ยาฉีดคุมกำเนิดหรือยาฝังคุมกำเนิดก็สามารถเลือกได้ แล้วแต่ความชอบของมารดาแต่ละราย โดยทางเลือกสุดท้าย คือ การกินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งหากต้องการคุมกำเนิดโดยใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในช่วงหกสัปดาห์แรกหลังคลอด ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทำให้ปริมาณน้ำนมได้ เอกสารอ้างอิง

  1. Sridhar A, Salcedo J. Optimizing maternal and neonatal outcomes with postpartum contraception: impact on breastfeeding and birth spacing. Matern Health Neonatol Perinatol 2017;3:1.

 

ทัศนคติของมารดาในการใช้ยาระหว่างการให้นมบุตร

IMG_3413

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ในช่วงระยะเวลาหลังคลอด หากมารดาเจ็บป่วยต้องรับประทานยาในขณะที่ให้นมบุตร มารดามักเกิดคำถามว่าขณะที่กินยาสามารถให้นมลูกได้หรือไม่ ทัศนคติของมารดาแตกต่างกัน บางคนกินยาโดยไม่ใส่ใจว่าตนเองให้นมบุตร ขณะที่มารดาบางคนมีความวิตกกังวลมากเมื่อต้องใช้ยาจนทำให้ต้องเลือกที่จะหยุดยาหรือหยุดให้นมบุตร1 ปัญหาเหล่านี้ ต้องอาศัยความร่วมมือในการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาในระหว่างให้นมบุตรที่เหมาะสม โดยบุคลากรทางการแพทย์หลายสาขามีบทบาทร่วมกันที่จะช่วยให้มารดาคลายความวิตกกังวลและปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสมเมื่อต้องใช้ยาและให้ลูกกินนมแม่ อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมและสร้างระบบที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาความรู้เรื่องการใช้ยาแก่บุคลากรทางการแพทย์ก็มีความจำเป็น เริ่มตั้งแต่เภสัชกรซึ่งต้องถามสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มาซื้อยาที่ร้านขายยาว่า ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่หรือไม่มารดาแต่ละคน แพทย์และพยาบาลผู้ให้การดูแลรักษาสตรีที่ป่วยก่อนที่จะสั่งยาต้องถามว่า สตรีนั้นตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่ไหม เพื่อจะได้เลือกยาที่เหมาะสม ผ่านน้ำนมน้อย หรือแนะนำให้กินนมแม่ก่อนการให้ยา แล้วเว้นระยะการให้นมบุตร 3-4 ชั่วโมงเพื่อให้ระดับของยาที่ผ่านน้ำนมลดลง ซึ่งการให้คำปรึกษาในมารดาแต่ละคนจำเป็นต้องใส่ใจถึงสภาพแวดล้อม สถานภาพ และสภาพจิตใจของมารดาด้วยเสมอ ดังนั้น การตระหนักและใส่ใจเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการให้การดูแลผู้ป่วยไม่เฉพาะในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Spiesser-Robelet L, Brunie V, de Andrade V, Gagnayre R. Knowledge, Representations, Attitudes, and Behaviors of Women Faced With Taking Medications While Breastfeeding. J Hum Lact 2017;33:98-114.