คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

มุมมองต่อการให้นมแม่ในที่สาธารณะ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?ปัจจุบันในที่สาธารณะเริ่มมีการจัดมุมนมแม่สำหรับมารดาที่มีบุตรและต้องให้นมแม่เมื่อออกมานอกบ้านในที่สาธารณะ แต่มุมมองต่อเรื่องการให้นมแม่ในที่สาธารณะมีมุมมองที่แตกต่างกัน มุมมองหนึ่งมองว่าเรื่องการให้นมแม่ในที่สาธารณะเป็นเรื่องน่าอาย และผิดจารีตทางสังคม ต้องมีที่ส่วนตัวหรือควรให้นมแม่อยู่กับบ้าน กับอีกมุมมองหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ และยอมรับได้กับการให้นมแม่ในที่สาธารณะ ไม่ผิดศีลธรรม สตรีควรได้รับการยอมรับกับการที่ต้องออกนอกบ้าน ไปทำงานและมีสิทธิในการให้นมแม่ แม้ไม่มีมุมนมแม่ก็ตาม ในประเทศไทยยังขาดข้อมูลความเห็นของคนในสังคมในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่มีการศึกษาโดยการทำแบบสำรวจออนไลน์ในประเทศจีน โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจ 2021 คน พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 95 เห็นด้วยว่าสถานที่สาธารณะควรมีมุมนมแม่ โดยสตรีที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการมีบุตรหรือเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสตรีที่มีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีทัศนคติที่ดีหรือยอมรับในการให้นมแม่ในที่สาธารณะ แต่มีผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 47 เห็นว่าการให้นมแม่ในที่สาธารณะเป็นเรื่องน่าอับอาย1 อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าตัวเลขของผู้ที่มองว่าการให้นมแม่ในที่สาธารณะเป็นเรื่องน่าอายพบน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ในประเทศจีนเป็นสังคมที่ค่อนข้างยึดถือจารีตธรรมเนียมโบราณ นี่อาจแสดงให้เห็นว่า คนในสังคมน่าจะเริ่มยอมรับการให้นมแม่ในที่สาธารณะเพิ่มขึ้น รวมทั้งในประเทศไทยก็น่าจะมีแนวโน้มของมุมมองหรือแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Zhao Y, Ouyang YQ, Redding SR. Attitudes of Chinese Adults to Breastfeeding in Public: A Web-Based Survey. Breastfeed Med 2017;12:316-21.

 

อกอุ่นของมารดา สถานที่ที่ปลอดภัยในชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในกระบวนการของการคลอด ทารกที่อยู่ในครรภ์ เดิมจะได้รับการปกป้องจากมดลูก มีความอบอุ่น ปลอดภัย มีอาหารที่ได้รับผ่านทางสายสะดือ รวมทั้งอยู่ใกล้หัวใจของมารดาที่มีจังหวะการเต้นที่เป็นเสมือนเพลงที่กล่อมทารกให้ทารกสงบขณะอยู่ในครรภ์ แต่เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ทารกควรอยู่ที่ไหน อยู่ในรถที่เป็นเปลนอนสำหรับเด็กหรือจะเป็นตู้หรือเครื่องมือที่ให้ความอบอุ่น คำตอบที่ถูกต้องที่ทุกคนควรรับทราบคือ บนอกอุ่น ๆ ของมารดาที่จะให้ทั้งความอบอุ่น ความปลอดภัย สายสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก อาหารจากนมแม่ รวมทั้งเพลงกล่อมจากการเต้นของหัวใจที่ทารกได้ยินบนอกแม่ การปรับตัวของทารกกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็จะค่อยเป็นค่อยไป เพราะทารกยังมีสิ่งแวดล้อมที่ตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานที่ใกล้เคียงกับขณะอยู่ในครรภ์ ซึ่งจะทำให้ทารกปรับตัวได้ดี อันจะเป็นก้าวแรกสู่การพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่ดีด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Phillips R. The sacred hour: uninterrupted skin-to-skin contact immediately after birth. Newborn & Infant Nursing Reviews 2013,13:67-72.

 

 

 

ความฝังใจแรกของทารกในชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? อิทธิพลของความฝังใจแรกเกิดหรือความประทับใจแรกพบเป็นสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตที่จะเจริญเติบโตในอนาคต เช่น ลูกเป็ดที่ฟักออกมาจากไข่ สำหรับทารกนั้น แม้ว่าการยืนยันถึงการจดจำช่วงชีวิตที่อยู่ในครรภ์และผ่านการคลอดมานั้น ยังขาดข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน แต่มีบางรายงานการศึกษา พบว่าทารกบางคน เมื่อเติบโตขึ้น อายุ 3-5 ปี เมื่อได้รับการสะกดจิต สามารถเล่าถึงกระบวนการในการคลอดได้อย่างถูกต้อง สิ่งนี้แสดงว่า ประสบการณ์ในการคลอดของทารก แม้ทารกเมื่อโตขึ้นแล้วจำไม่ได้ แต่ประสบการณ์ที่ได้รับในขณะเกิดหรือหลังคลอดใหม่ ๆ จะฝังอยู่ในส่วนลึกของจิตใจของทารกนั้นไปตลอดชีวิต ซึ่งประสบการณ์ในช่วงแรกคลอด ทารกบางคนอาจพบกับความตื่นกลัว การโดดเดี่ยวที่ต้องออกมาจากการอยู่ในครรภ์ใกล้ชิดมารดาที่อบอุ่นและปลอดภัย ในขณะที่เมื่อทารกคลอดออกมาหากผู้ที่ดูแลการคลอดหรือครอบครัวขาดการให้เกียรติ การให้ความเคารพ และการยอมรับให้ชั่วโมงแรกนั้นเป็นชั่วโมงของทารกที่จะผ่านกระบวนการการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมภายนอก ทุกวัฒนธรรมมักให้ความสำคัญกับการแต่งงาน รวมทั้งการเกิด โดยในระหว่างพิธีการแต่งงานที่เป็นการหลอมรวมคนสองเข้าเป็นหนึ่งเดียว จะให้ความเคารพและไม่ทำสิ่งใดที่เป็นการรบกวนในระหว่างพิธีกรรม การเกิดก็เช่นกัน การให้การต้อนรับสมาชิกใหม่ ควรให้ความเคารพและให้เวลาทารกได้ปรับตัวโดยปราศจากสิ่งใด ๆ ที่รบกวน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะช่วยสร้างความฝังใจแรกเกิดที่ดีของทารกที่จะส่งผลต่อชีวิตของเขาเมื่อเจริญเติบโตขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Phillips R. The sacred hour: uninterrupted skin-to-skin contact immediately after birth. Newborn & Infant Nursing Reviews 2013,13:67-72.

 

 

ชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์สำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในชั่วโมงแรกหลังการเกิด ถือเป็นชั่วโมงที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่บุคลากรทางการแพทย์และครอบครัวควรให้ความเคารพในกระบวนการตามธรรมชาติที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการและความสามารถในการปรับตัวของทารกกับสิ่งแวดล้อมใหม่ พฤติกรรมของทารกจะมีการเปลี่ยนแปลงตามกระบวนการ 9 ขั้นตอน ได้แก่ ร้องไห้ ผ่อนคลาย ตื่นตัว ขยับ พัก คืบคลาน คุ้นเคย ดูดนมและหลับ ซึ่งกว่าทารกจะเริ่มการดูดนมต้องใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงหลังคลอด ดังนั้น ทางการแพทย์จึงแนะนำให้ให้ความสำคัญของกระบวนการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อบนอกแม่ ที่ไม่ควรมีสิ่งใดมารับกวนสัมผัสรักของมารดาที่ส่งเสริมความสัมพันธ์และพัฒนาการให้กับบุตร กระบวนการทางการแพทย์ใด ๆ ที่มีความสำคัญน้อยกว่า และรอได้ ควรละเว้นหรือรอให้ทารกได้ดื่มด่ำคุ้นเคยกับเต้านมและหัวนมของมารดาที่จะนำพาสู่น้ำนมหยดแรกและเป็นก้าวแรกที่เป็นก้าวที่สำคัญในการส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Phillips R. The sacred hour: uninterrupted skin-to-skin contact immediately after birth. Newborn & Infant Nursing Reviews 2013,13:67-72.

 

ชั่วโมงแรก…ชั่วโมงอันศักดิ์สิทธิ์และแสนมหัศจรรย์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ชั่วโมงแรกหลังการเกิด ทารกจะมีพัฒนาการจากการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอก การที่ทารกได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อจะส่งผลดีในระยะสั้นและระยะยาวต่อทั้งด้านร่างกายและจิตใจของทารก เมื่อมีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกหลังคลอด จะพบทารกมีการเปลี่ยนแปลงตามสัญชาตญาณตามธรรมชาติเป็นลำดับใน 9 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ร้องไห้ขณะเกิด (the birth cry) ทารกจะร้องไห้เมื่อแรกคลอด ซึ่งทำให้เกิดการขยายและนำอากาศเข้าสู่ปอด

ระยะที่ 2 ผ่อนคลาย (relaxation) หลังทารกหยุดร้องไห้ ทารกจะผ่อนคลาย ไม่มีขยับแขนขาหรือขยับปาก จะสังเกตเห็นทารกสงบนิ่งอยู่บนอกมารดา

ระยะที่ 3 ตื่นตัว (awakening) เมื่อถึงระยะนี้ ทารกจะมีการขยับศีรษะและไหล่ โดยทารกจะเข้าสู่ระยะนี้ราว 3 นาทีหลังจากเกิด อาจสังเกตเห็นทารกลืมตา ขยับปาก ขณะที่มีการเคลื่อนไหวของศีรษะและหัวไหล่

ระยะที่ 4 ขยับหรือเคลื่อนไหว (activity) ทารกจะมีการขยับปากหรือแสดงลักษณะของการดูดชัดเจนขึ้น รวมทั้งหากมีการสัมผัสบริเวณแก้มหรือริมฝีปาก ทารกจะหันเข้าหาและแสดงอาการดูดให้เห็น (rooting reflex) ระยะนี้จะเริ่มราว 8 นาทีหลังการเกิด

ระยะที่ 5 พัก (rest) เป็นระยะที่ทารกจะหยุดหรือพักจากการขยับหรือเคลื่อนไหว ซึ่งระยะพักจะพบสลับกับการที่ทารกขยับ ดูด หรือเคลื่อนไหวได้ตลอดช่วงที่ทารกอยู่บนอกมารดา

ระยะที่ 6 คืบคลาน (crawling) ทารกจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวไปหาเต้านมและหัวนม ระยะนี้จะเริ่มราว 35 นาทีหลังการเกิด

ระยะที่ 7 คุ้นเคยกับเต้านมและหัวนม ทารกจะเริ่มมีการสัมผัส เลีย หรืออมหัวนม ซึ่งเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับเต้านมและหัวนม พร้อมกับเป็นการส่งสัญญาณให้เต้านมมารดามีความพร้อมที่จะหลั่งน้ำนม ระยะนี้จะเริ่มราว 45 นาทีหลังการเกิด และทารกจะอยู่ในระยะนี้ราว 20 นาทีหรือมากกว่านั้น

ระยะที่ 8 ดูดนม ระยะนี้ทารกจะเริ่มประกบปาก อมหัวนมและลานนม พร้อมกับดูดนม โดยจะเริ่มราว 1 ชั่วโมงหลังการเกิด แต่ในมารดาที่ได้รับการให้ยาแก้ปวดหรือยาระงับความรู้สึก อาจส่งผลให้ระยะนี้เกิดช้าลงได้

ระยะที่ 9 หลับ หลังจากกิจกรรมต่าง ๆ ทารกจะง่วงหลับ ซึ่งจะพบทารกง่วงหลับราว 1ชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมงหลังการเกิด

เอกสารอ้างอิง

  1. Phillips R. The sacred hour: uninterrupted skin-to-skin contact immediately after birth. Newborn & Infant Nursing Reviews 2013,13:67-72.