คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

มารดาที่รักษาโรคลำไส้อักเสบสามารถให้ลูกกินนมแม่ได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            โรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease) มีความจำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของมารดา ได้แก่ infliximab, adalimumab, certolizumab, natalizumab และ ustekinumab ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความกังวลในกรณีที่มารดาให้นมลูกว่า การให้นมลูกจะเกิดผลเสียจากการได้รับยาด้วยหรือไม่ มีการศึกษาพบว่า ยาที่มารดาได้รับผ่านน้ำนมในปริมาณที่ต่ำและไม่มีผลเสียทางคลินิกเมื่อเทียบกับทารกที่ไม่ได้กินนมแม่1 ดังนั้น ในมารดาที่รักษาโรคลำไส้อักเสบด้วยยาเหล่านี้ ยังคงสามารถให้นมแม่ได้หากมารดาต้องการโดยไม่พบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในทารกจากการได้รับยา

เอกสารอ้างอิง

  1. Matro R, Martin CF, Wolf D, Shah SA, Mahadevan U. Exposure Concentrations of Infants Breastfed by Women Receiving Biologic Therapies for Inflammatory Bowel Diseases and Effects of Breastfeeding on Infections and Development. Gastroenterology 2018.

การใช้สื่อดีวีดีในการเพิ่มความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ในการให้ความรู้และฝึกทักษะในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดานั้น บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และความมั่นใจในการให้คำปรึกษา ให้ความรู้ และทักษะในการดูแลหรือจัดการให้ทารกสามารถกินนมแม่ได้ การใช้สื่อที่มีการเตรียมอย่างเหมาะสมสำหรับการเพิ่มความรู้และทักษะในการสอนมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะสามารถที่จะเพิ่มความรุ้และความมั่นใจของบุคลากรที่ต้องสอนมารดาในการให้นมลูกได้ โดยสื่อที่ใช้ที่มีการศึกษาได้แก่ ดีวีดี1 ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์สามารถเปิดดูและศึกษาก่อนการสอนหรือให้ความรู้แก่มารดา โดยการที่ได้ดูดีวีดีก่อนการสอนจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่บุคลาการทางการแพทย์ที่เป็นผู้สอนด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Ma YY, Wallace LL, Qiu LQ, Kosmala-Anderson J, Bartle N. A randomised controlled trial of the effectiveness of a breastfeeding training DVD on improving breastfeeding knowledge and confidence among healthcare professionals in China. BMC Pregnancy Childbirth 2018;18:80.

การให้นมแม่ช่วยป้องกันการทอดทิ้งทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การที่มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยการเริ่มต้นการให้นมลูกตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ความผูกพันระหว่างมารดาและทารกร่วมกับระยะเวลาที่ให้นมลูก ยิ่งมีการให้นมลูกนาน ความผูกพันจะยิ่งมาก ซึ่งจะช่วยป้องกันการทอดทิ้งทารกและการคุกคามทางเพศเมื่อทารกเจริญวัยเข้าสู่วัยเด็ก1 ปัญหาทางด้านสังคมที่พบมากในปัจจุบันอาจลดลงได้หากสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกมีความเหนียวแน่นและช่วยยึดโยงสายสัมพันธ์ของครอบครัว ดังนั้น การวางรากฐานสุขภาพที่ดีของทารก มารดา รวมทั้งครอบครัวสามารถเริ่มต้นด้วยการให้ลูกได้กินนมแม่และกินนมแม่ให้ยาวนานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Kremer KP, Kremer TR. Breastfeeding Is Associated with Decreased Childhood Maltreatment. Breastfeed Med 2018;13:18-22.

ไม่ควรละเลยบิดาในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บทบาทของบิดาไม่ควรจะถูกละเลย เนื่องจากความคิดเห็นและทัศนคติที่ดีของบิดาจะมีผลดีต่ออัตราการเลี้ยงลูกแม่1 ดังนั้น การใส่ใจและเปิดโอกาสให้บิดาได้ร่วมเข้าเรียนรู้หรือมีประสบการณ์ร่วมในการอบรมความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรมีการสนับสนุนและเอาใจใส่ หากบิดามีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา สนับสนุนและให้กำลังใจมารดา แบ่งเบาภาวะครอบครัวที่จะช่วยให้มารดาคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่บุคลากรควรเรียนรู้และสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานในโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Johnston JT, Jr. Incorporating “Father-Friendly” Breastfeeding Language in Maternity Settings. J Perinat Neonatal Nurs 2018;32:112-5.

 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมุมมองของแม่ที่เป็นผดุงครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ในกรณีที่มารดาเป็นบุคลากรทางการแพทย์เองที่มีความรู้และความเข้าใจถึงประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นอย่างดี ในกรณีนี้มารดามักตั้งเป้าหมายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไว้สูง เมื่อเกิดปัญหาที่ทำให้จำเป็นต้องหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักจะทำให้มารดามีความเครียด เนื่องจากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ตั้งไว้ได้1 แม้ว่าเรื่องของการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเป็นเรื่องตามธรรมชาติ ที่บางครั้งทารกจะเริ่มปฎิเสธนมแม่เองเมื่ออายุของทารกเริ่มเพิ่มขึ้น ตัวอย่างนี้อาจแสดงให้เห็นถึงความคาดหวังที่สูงของบุคลากรทางการแพทย์อาจจะไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา สามารถสร้างให้เกิดความกดดันหรือความเครียดให้แก่มารดาได้ มุมมองเมื่อผดุงครรภ์มีบทบาทเป็นแม่เองได้สะท้อนถึงความคาดหวังที่เกิดขึ้นนี้

เอกสารอ้างอิง

  1. LoGiudice JA. A Breastfeeding Journey Through the Eyes of a Midwife Mother. Nurs Womens Health 2018;22:96-5.