คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหลังคลอด

การสูบบุหรี่ของครอบครัวมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                แม้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีผลดีต่อการสูบบุหรี่ของครอบครัวโดยลดการสูบบุหรี่ของคนในครอบครัวลดได้ แต่ในทางกลับกัน การสูบบุหรี่ของคนในครอบครัวมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาพบว่า หากสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่มากกว่าสองคนขึ้นไปจะเพิ่มความเสี่ยงที่มารดาจะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรราวร้อยละ 301 ดังนั้น การให้คำปรึกษาแก่มารดาควรครอบคลุมถึงบุคคลที่อยู่ในครอบครัวที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย เพื่อให้มารดาและคนในครอบครัวมีความเข้าใจ ได้ประโยชน์จากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขณะเดียวกันก็ลดผลเสียจากการสูบบุหรี่ให้มีน้อยที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Lok KYW, Wang MP, Chan VHS, Tarrant M. Effect of Secondary Cigarette Smoke from Household Members on Breastfeeding Duration: A Prospective Cohort Study. Breastfeed Med 2018;13:412-7.

ครรภ์แฝดมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ครรภ์แฝดถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่มีผลทำให้การตั้งครรภ์และการคลอดมีความเสี่ยงสูง เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย และโอกาสที่ต้องย้ายทารกเข้าหอทารกป่วยวิกฤตสูง ดังนั้นจึงเป็นผลให้การเริ่มการให้นมลูกทำได้ช้ากว่าทารกที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และทำให้ความเสี่ยงที่จะหยุดให้นมแม่ก่อนเวลาอันควรสูงกว่า มีการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์แฝดพบว่า ความยากลำบากในการให้นมลูก การขาดการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสมในช่วงให้นมบุตร การที่ทารกมีน้ำหนักน้อยกว่า 2300 กรัม และประวัติการให้นมลูกในครรภ์ก่อนที่น้อยกว่า 12 เดือน1 ดังนั้น ครรภ์แฝดจึงถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งของการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรที่บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจและควรให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด

เอกสารอ้างอิง

  1. Mikami FCF, Francisco RPV, Rodrigues A, Hernandez WR, Zugaib M, de Lourdes Brizot M. Breastfeeding Twins: Factors Related to Weaning. J Hum Lact 2018:890334418767382.

สิทธิในการรักษาพยาบาลมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ในประเทศไทย คนไทยทุกคนจะมีสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างน้อยคือ สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นสิทธิพื้นฐานที่กำหนดให้บุคคลใด ๆ สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลพื้นฐานได้โดยปราศจากข้อจำกัดในด้านค่าใช้จ่าย แต่ยังมีสิทธิการรักษาพยาบาลอื่น ๆ ที่ยังมีความเลื่อมล้ำในสิทธิประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมกันในด้านการรักษาพยาบาล ได้แก่ สิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งกองทุนหรือแหล่งกำเนิดของกองทุนแต่ละกองทุนยังมีความแตกต่างกัน และข้อกำหนดหรือหลักคิดในการจัดสวัสดิการการรักษาพยาบาลอยู่บนรากฐานที่แตกต่างกัน สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ให้สิทธิการฝากครรภ์และการคลอดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่สิทธิประกันสังคมได้สิทธิเหมาจ่ายในการคลอด 13000 บาทไม่ว่าจะคลอดที่โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน คลอดปกติหรือผ่าตัดคลอด ซึ่งปัจจุบันอัตราการผ่าตัดคลอดสูง และค่าใช้จ่ายก็สูงโดยอาจจะเกินวงเงินที่เหมาจ่ายในการดูแลการคลอดของสิทธิประกันสังคมได้ เมื่อมีความแตกต่างกันในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการดูแลการคลอด ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงมีผลต่อการตัดสินใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย ดังตัวอย่างการศึกษาเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาลที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสหรัฐอเมริกา1 ดังนั้น แพทย์ผู้ดูแลควรใส่ใจเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาลของมารดา เพื่อให้คำปรึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างเหมาะสมกับสิทธิการรักษาพยาบาล

เอกสารอ้างอิง

  1. Mercier RJ, Adeliyi Burcher T, Horowitz R, Wolf A. Differences in Breastfeeding Among Medicaid and Commercially Insured Patients: A Retrospective Cohort Study. Breastfeed Med 2018.

 

การทำงานเป็นทีมสำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            แม้ว่าแพทย์จะมีบทบาทเป็นผู้นำในการส่งเสริมสุขภาพในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยแพทย์ที่มีบทบาทที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก ได้แก่ สูติแพทย์ กุมารแพทย์ และในกรณีที่ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง ก็อาจเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปที่เป็นแพทย์ที่ให้การดูแลมารดาและทารกตั้งแต่ระยะฝากครรภ์จนถึงหลังคลอดและดูแลทารกต่อเนื่องไปจนกระทั่งทารกเจริญวัยขึ้นไปเข้าสู่วัยเด็ก แพทย์จะมีอิทธิพลในการให้คำปรึกษาทั้งในในระยะฝากครรภ์ การคลอด และหลังคลอด อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมดูแลมารดาและทารกก็เป็นบุคคลที่มีความสำคัญ และสามารถช่วยสนับสนุนและดูแลมารดาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสมบูรณ์และความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ดังนั้น การวางแผนการปฏิบัติงานเป็นทีม เพื่อให้การดูแลมารดาและทารกเป็นไปอย่างราบรื่นและต่อเนื่องจึงมีความจำเป็นและบุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญกับสิ่งนี้1

เอกสารอ้างอิง

  1. Melin A, Bjorklund P, Zwedberg S. Pediatricians’ experiences of working with breastfeeding: An interview study. Sex Reprod Healthc 2018;16:218-23.

 

ปัจจัยที่ส่งเสริมการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า หากมารดาเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจะช่วยส่งเสริมให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวมได้ มีการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า มารดาที่พักอยู๋ในเขตชุมชนเมือง มารดาครรภ์หลัง มารดาที่มีการฝากครรภ์ มารดาที่คลอดในสถานพยาบาล และมารดาที่คลอดปกติทางช่องคลอด จะส่งผลดีต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้นในมารดาที่พักอยู่ในชนบท มารดาครรถ์แรก มารดาที่ไม่ได้มีการฝากครรภ์มาก่อน มารดาที่คลอดบุตรที่บ้าน และมารดาที่ผ่าตัดคลอดล้วนมีความเสี่ยงที่จะเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า โดยเฉพาะหากเริ่มต้นช้ากว่า 6 ชั่วโมงหลังคลอด จะส่งผลเสียทำให้มารดามีโอกาสที่หยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร การเอาใจใส่และให้คำปรึกษาในมารดากลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ จะลดปัญหาและเพิ่มความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Mekonen L, Seifu W, Shiferaw Z. Timely initiation of breastfeeding and associated factors among mothers of infants under 12 months in South Gondar zone, Amhara regional state, Ethiopia; 2013. Int Breastfeed J 2018;13:17.