คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

มารดาที่ติดเชื้อโควิด 19 ให้ลูกกินนมแม่ได้หรือไม่?

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

คำตอบคือ มารดาสามารถให้ลูกกินนมแม่ได้ โดยอาจให้ทารกกินนมจากเต้าโดยตรง หรือเลือกป้อนนมที่ได้จากการปั๊มนมของมารดา เนื่องจากจากข้อมูลในปัจจุบันไม่พบเชื้อในน้ำนมมารดา และทารกจะได้ประโยชน์จากการกินนมแม่มากกว่า นอกจากนี้ ทารกยังอาจได้รับประโยชน์จากการได้รับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อผ่านน้ำนมของมารดา อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ต้องมีการป้องกันการแพร่เชื้อจากมารดาโดยการไอ จามหรือผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่เยื่อบุตา โดยการแยกเตียงทารกให้ห่างจากมารดาในระยะ 2 เมตรหรืออาจพิจารณาการใช้ฉากหรือม่านกั้น มารดาควรใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และมีการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีโอกาสสัมผัสกับสารคัดหลั่งของมารดา ซึ่งการพิจารณาการให้ลูกกินนมแม่ หรือการเลือกให้มารดาปั๊มนมควรมีการร่วมพิจารณาและตัดสินใจหลังจากที่มารดาและครอบครัวมีความเข้าใจถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธีเรียบร้อยแล้ว1

เอกสารอ้างอิง

1.            Davanzo R, Moro G, Sandri F, Agosti M, Moretti C, Mosca F. Breastfeeding and Coronavirus Disease-2019. Ad interim indications of the Italian Society of Neonatology endorsed by the Union of European Neonatal & Perinatal Societies. Matern Child Nutr 2020:e13010.

มารดาที่ติดเชื้อโควิด 19 หลังคลอดต้องแยกมารดาจากทารกหรือไม่?

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

คำตอบคือ ทารกสามารถอยู่ร่วมห้องกับมารดาได้ แต่ต้องมีการป้องกันการแพร่เชื้อจากมารดาโดยการไอ จามหรือผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่เยื่อบุตา โดยการแยกเตียงทารกให้ห่างจากมารดาในระยะ 2 เมตรหรืออาจพิจารณาการใช้ฉากหรือม่านกั้น มารดาควรใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และมีการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีโอกาสสัมผัสกับสารคัดหลั่งของมารดา1

เอกสารอ้างอิง

1.            Davanzo R, Moro G, Sandri F, Agosti M, Moretti C, Mosca F. Breastfeeding and Coronavirus Disease-2019. Ad interim indications of the Italian Society of Neonatology endorsed by the Union of European Neonatal & Perinatal Societies. Matern Child Nutr 2020:e13010.

หลังคลอดบุตร มารดาที่ติดเชื้อโควิด 19 สามารถโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อได้หรือไม่?

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

คำตอบคือ มารดาสามารถโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อได้ แต่จำเป็นต้องมีการป้องกัน โดยมารดาต้องใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่านสารคัดหลั่งจากการไอ หรือจามของมารดาไปสู่ทารก แต่ในกรณีที่มารดามีภาวะปอดอักเสบรุนแรง มารดาอาจไม่สามารถให้การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อหลังคลอด ซึ่งในกรณีนี้ การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้ออาจทำโดยบิดาหรือญาติที่มีบทบาทในการดูแลทารกแทน1

เอกสารอ้างอิง

1.            Davanzo R, Moro G, Sandri F, Agosti M, Moretti C, Mosca F. Breastfeeding and Coronavirus Disease-2019. Ad interim indications of the Italian Society of Neonatology endorsed by the Union of European Neonatal & Perinatal Societies. Matern Child Nutr 2020:e13010.

หากสตรีตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด 19 จำเป็นต้องผ่าตัดคลอดหรือไม่?

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

คำตอบคือ ไม่จำเป็น แต่หากมารดามีภาวะปอดอักเสบ การพิจารณาการผ่าตัดคลอดอาจมีความจำเป็น เนื่องจากหากเกิดภาวะปอดอักเสบในมารดาที่ตั้งครรภ์ การดูแลมารดาขณะที่มีทารกอยู่ในครรภ์ การติดตาม หรือการเฝ้าระวังอันตรายที่จะเกิดกับทารกจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ดังนั้น หากทารกมีอายุครรภ์ที่ครบกำหนดหรืออยู่ในระยะที่สามารถเลี้ยงดูทารกได้ เมื่อชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบข้อดีของการให้ทารกคลอดออกมา หากมากกว่าข้อเสียของการปล่อยให้ทารกอยู่ในครรภ์และติดตามเฝ้าระวัง ซึ่งการพิจารณาให้มารดาคลอดในมารดาที่ยังไม่มีการเจ็บครรภ์ อาจจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดคลอด1

เอกสารอ้างอิง

1.            Davanzo R, Moro G, Sandri F, Agosti M, Moretti C, Mosca F. Breastfeeding and Coronavirus Disease-2019. Ad interim indications of the Italian Society of Neonatology endorsed by the Union of European Neonatal & Perinatal Societies. Matern Child Nutr 2020:e13010.

เชื้อโควิด 19 จะติดเชื้อจากการตั้งครรภ์ผ่านจากแม่ไปสู่ลูกหรือไม่?

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

คำตอบคือ เท่าที่มีข้อมูลในปัจจุบัน เชื้อโควิด 19 ไม่มีการติดเชื้อจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์ การติดเชื้อจะเกิดจากสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโควิด 19 จากการไอ หรือจามเป็นหลัก และส่วนน้อยจะเกิดจากสารคัดหลั่งสัมผัสกับเยื่อบุตา ซึ่งจะคล้ายคลึงกับเชื้อในกลุ่มเดียวกันที่มีการระบาดมาก่อน ได้แก่ SAR ดังนั้นทารกในครรภ์จะไม่ติดเชื้อโควิดขณะอยู่ในครรภ์ แต่เมื่อมารดาคลอดทารกออกมา หากมารดาติดเชื้อและไม่มีการป้องกัน ทารกก็อาจได้รับเชื้อจากมารดาในช่วงหลังคลอดได้1

เอกสารอ้างอิง

1.            Davanzo R, Moro G, Sandri F, Agosti M, Moretti C, Mosca F. Breastfeeding and Coronavirus Disease-2019. Ad interim indications of the Italian Society of Neonatology endorsed by the Union of European Neonatal & Perinatal Societies. Matern Child Nutr 2020:e13010.