คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

ทารกร้องกวนมีความเสี่ยงต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 ทารกร้องกวน มีผลต่อการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ในประเทศไทยพบสาเหตุนี้เป็นหนึ่งในห้าอันดับของสาเหตุการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงหกเดือนแรก2 การร้องกวนของทารก หากไม่ทราบสาเหตุ คนทั่วไปจะเข้าใจว่าทารกหิว ทำให้มักจะให้นมทารกก่อน ซึ่งหากมารดาไม่อยู่ ทารกมีโอกาสได้รับนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเพิ่มขึ้น การที่ทารกได้รับนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจะมีโอกาสที่ทารกจะเกิดการสับสนระหว่างการดูดนมแม่จากเต้ากับการดูดนมจากขวดนม เนื่องจากกลไกการดูดนมมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้มีโอกาสที่จะหยุดนมแม่เพิ่มขึ้น

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Olang B, Heidarzadeh A, Strandvik B, Yngve A. Reasons given by mothers for discontinuing breastfeeding in Iran. Int Breastfeed J 2012;7:7.
  2. Puapornpong P, Manolerdthewan W, Raungrongmorakot K, Ketsuwan S, Wongin S. Factor effecting on breastfeeding success in infants up to 6 month of age in Nakhon Nayok province. J Med Health Sci 2009;16:116-23.

การที่มารดารู้สึกเหนื่อยหลังคลอดมีผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  การคลอดที่เนิ่นนาน การคลอดยาก หรือมีการติดขัดระหว่างการเบ่งคลอด จะทำให้มารดารู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลียหลังคลอดได้ โดยหากมีการงดน้ำงดอาหารเป็นเวลานาน มารดาจะยิ่งอ่อนล้า จนบางครั้งง่วงหลับไป ทำให้การเริ่มการให้นมลูกช้า โดยมีการศึกษาพบว่า การที่มารดารู้สึกเหนื่อย ไม่สบายตัว มีผลลบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 อย่างไรก็ตาม ตามธรรมชาติ หลังคลอดมารดามักอยากเห็นหน้าลูก โอบกอดลูก และให้ลูกกินนมแม่ ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรไปคิดแทนว่า มารดาเหนื่อยเกินไป ยังไม่ควรให้นมลูก และแยกลูกออกจากแม่ เพราะจะยิ่งส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Dykes F, Moran VH, Burt S, Edwards J. Adolescent mothers and breastfeeding: experiences and support needs–an exploratory study. J Hum Lact 2003;19:391-401.

การที่มารดาหรือทารกป่วยอาจทำให้เกิดการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             การที่มารดาหรือทารกป่วยทำให้มีโอกาสต้องแยกจากกันจึงเป็นปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ซึ่งปัญหานี้ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการขาดความรู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวหรือดูแลตนเองหรือทารกอย่างไรจึงจะเหมาะสม และอาจมีความวิตกกังวลว่าการป่วยของมารดาอาจติดต่อไปยังทารกได้ นอกจากนี้ การที่มารดาได้รับยาในการรักษาอาจมีผลต่อปริมาณน้ำนมหรือทารกส่งผลต่อการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย2 ในประเทศไทยพบสาเหตุนี้เป็นหนึ่งในห้าอันดับของสาเหตุการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงหกเดือนแรก3 ซึ่งแสดงถึงว่า การที่มารดาหรือป่วย หากไม่ได้รับการเอาใจใส่หรืออธิบายให้มารดาและครอบครัวเข้าใจอย่างเหมาะสม มารดาจะได้รับการแยกจากทารกหรือหยุดให้นมแม่เนื่องจากความวิตกกังวลเรื่องทารกอาจจะป่วยตามมารดาหรือยาที่ใช้รักษาความเจ็บป่วยอาจจะผ่านไปสู่ทารกจนเกิดอันตรายได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Eglash A, Montgomery A, Wood J. Breastfeeding. Disease-a-Month 2008;54:343-411.
  2. Olang B, Heidarzadeh A, Strandvik B, Yngve A. Reasons given by mothers for discontinuing breastfeeding in Iran. Int Breastfeed J 2012;7:7.
  3. Puapornpong P, Manolerdthewan W, Raungrongmorakot K, Ketsuwan S, Wongin S. Factor effecting on breastfeeding success in infants up to 6 month of age in Nakhon Nayok province. J Med Health Sci 2009;16:116-23.

 

 

 

 

มารดามักคิดว่าน้ำนมตนเองไม่เพียงพอเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้หยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 ต้องบอกก่อนเลยว่า ส่วนใหญ่แล้วมารดาจะมีน้ำนมเพียงพอสำหรับทารก การมีน้ำนมไม่พอ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว1 โดยพบเป็นปัญหาที่พบบ่อยของการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และยังมีผลต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนเวลาอันควร2,3  อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบเป็นปัญหาเพียงร้อยละ 5 แต่มารดากลับมีความรู้สึกว่าน้ำนมไม่พอถึงร้อยละ 504 หากมารดาร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพราะคิดว่าตนเองมีน้ำนมไม่เพียงพอ ก็จะเป็นสาเหตุของการที่พบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำกว่าที่ควรเป็น การสอนให้มารดาสามารถสังเกต ประเมินน้ำนม หรือขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในกรณีที่ไม่แน่ใจ จะช่วยลดปัญหานี้ได้ สำหรับปัญหานี้ในประเทศไทย พบเป็นสาเหตุอันดับที่สองในการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่พบบ่อยรองจากการกลับไปทำงานของมารดา5

เอกสารอ้างอิง

  1. Hegazi MA, Allebdi M, Almohammadi M, Alnafie A, Al-Hazmi L, Alyoubi S. Factors associated with exclusive breastfeeding in relation to knowledge, attitude and practice of breastfeeding mothers in Rabigh community, Western Saudi Arabia. World J Pediatr 2019.
  2. Chang PC, Li SF, Yang HY, et al. Factors associated with cessation of exclusive breastfeeding at 1 and 2 months postpartum in Taiwan. Int Breastfeed J 2019;14:18.
  3. Morton J, Hall JY, Pessl M. Five steps to improve bedside breastfeeding care. Nurs Womens Health 2013;17:478-88.
  4. Hector D, King L. Interventions to encourage and support breastfeeding. N S W Public Health Bull 2005;16:56-61.
  5. Puapornpong P, Manolerdthewan W, Raungrongmorakot K, Ketsuwan S, Wongin S. Factor effecting on breastfeeding success in infants up to 6 month of age in Nakhon Nayok province. J Med Health Sci 2009;16:116-23.

 

 

ทารกน้ำหนักตัวน้อยเสี่ยงต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  ทารกน้ำหนักตัวน้อยอาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งทารกจะมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะน้ำตาลต่ำหลังคลอดได้สูง มีโอกาสที่ต้องได้รับการดูแลที่จำเพาะหรือต้องย้ายไปอยู่ที่หอทารกป่วยวิกฤต ทำให้ต้องมีการแยกมารดาและทารกออกจากกัน การที่ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยจะมีความยากลำบากในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 โดยจะมีผลลบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หากทารกมีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยกว่า 2500 กรัม2 แต่ก็มีปัจจัยทางด้านการปฏิบัติที่จะช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่น้ำหนักตัวน้อย คือ การที่มารดาบีบหรือปั๊มนมให้ลูกภายใน 8 ชั่วโมงแรกหลังคลอด3 การเริ่มให้อาหารทางปากเร็ว4 การให้ทารกดูดจากเต้าหลังการปั๊มนมออก (non-nutritive sucking)5 และการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ6 ซึ่งหากบุคลากรส่งเสริมการปฏิบัติเหล่านี้ ก็จะเป็นการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเพิ่มโอกาสที่จะให้ทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยได้กินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Lee TY, Lee TT, Kuo SC. The experiences of mothers in breastfeeding their very low birth weight infants. J Adv Nurs 2009;65:2523-31.
  2. Chaves RG, Lamounier JA, Cesar CC. Factors associated with duration of breastfeeding. J Pediatr (Rio J) 2007;83:241-6.
  3. Parker MG, Melvin P, Graham DA, et al. Timing of First Milk Expression to Maximize Breastfeeding Continuation Among Mothers of Very Low-Birth-Weight Infants. Obstet Gynecol 2019;133:1208-15.
  4. Mamemoto K, Kubota M, Nagai A, et al. Factors associated with exclusive breastfeeding in low birth weight infants at NICU discharge and the start of complementary feeding. Asia Pac J Clin Nutr 2013;22:270-5.
  5. Pimenta HP, Moreira ME, Rocha AD, Gomes Jr SC, Pinto LW, Lucena SL. Effects of non-nutritive sucking and oral stimulation on breastfeeding rates for preterm, low birth weight infants: a randomized clinical trial. J Pediatr (Rio J) 2008;84:423-7.
  6. Almeida H, Venancio SI, Sanches MT, Onuki D. The impact of kangaroo care on exclusive breastfeeding in low birth weight newborns. J Pediatr (Rio J) 2010;86:250-3.