คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

ความผูกพันและสัญชาตญาณความเป็นแม่กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยสร้างความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ซึ่งหากจะอธิบายถึงกลไกในการสร้างความรักความผูกพันจะผ่านการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน ซึ่งถือว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความรักที่สร้างจากสมองส่วนไฮโปธาลามัสที่รับและแสดงการเปลี่ยนแปลงตามความรู้สึก ขณะที่ในทางกลับกัน ความผูกพันและสัญชาตญาณความเป็นแม่ก็มีผลดีต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงหนึ่งปีหลังคลอด1 เนื่องจากความรักความผูกพันระหว่างแม่ลูก ก็จะช่วยให้มารดาสามารถผ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จนมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกที่ยาวนานขึ้น ดังนั้น ทั้งสองสิ่งนี้ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน หากประคับประคองให้ไปด้วยกัน ก็จะเป็นผลดีต่อการดูแล เอาใจใส่ ลดการทอดทิ้งลูกและเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Britton JR, Britton HL, Gronwaldt V. Breastfeeding, sensitivity, and attachment. Pediatrics 2006;118:e1436-43.

การสนับสนุนนมแม่ ควรส่งเสริมให้มารดามีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              ความมั่นใจของมารดาที่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยตนเอง มีผลต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่ามารดาที่รู้สึกว่าสามารถให้นมลูกได้ด้วยตนเองหรือมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานกว่า1-3  สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อความมั่นใจของมารดาที่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยตนเอง ได้แก่ อายุ การศึกษา อาชีพของมารดา หน้าที่การงานของสามี เศรษฐานะ ประสบการณ์และระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์ก่อน ความเข้าใจผิดว่าน้ำนมแม่ไม่เพียงพอ การมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด การอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ การยึดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล และการได้รับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากบุคลากรทางการแพทย์4-6 โดยต้องถือเป็นบทบาทหนึ่งของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องสร้างให้มารดามีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อเป็นการส่งเสริมและเพิ่มโอกาสความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Blyth RJ, Creedy DK, Dennis CL, et al. Breastfeeding duration in an Australian population: the influence of modifiable antenatal factors. J Hum Lact 2004;20:30-8.
  2. Forster DA, McLachlan HL, Lumley J. Factors associated with breastfeeding at six months postpartum in a group of Australian women. Int Breastfeed J 2006;1:18.
  3. Blyth R, Creedy DK, Dennis CL, Moyle W, Pratt J, De Vries SM. Effect of maternal confidence on breastfeeding duration: an application of breastfeeding self-efficacy theory. Birth 2002;29:278-84.
  4. Nankumbi J, Mukama AA, Ngabirano TD. Predictors of breastfeeding self-efficacy among women attending an urban postnatal clinic, Uganda. Nurs Open 2019;6:765-71.
  5. Kamalifard M, Mirghafourvand M, Ranjbar F, Sharajabad FA, Gordani N. Relationship of Breastfeeding Self-Efficacy with Self-Esteem and General Health in Breastfeeding Mothers Referred to Health Centers of Falavarjan City-Iran, 2015. Community Ment Health J 2019;55:1057-63.
  6. Ngo LTH, Chou HF, Gau ML, Liu CY. Breastfeeding self-efficacy and related factors in postpartum Vietnamese women. Midwifery 2019;70:84-91.

 

 

การส่งเสริมให้มารดามีทัศนคติที่ดีต่อนมแม่จะช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             ทัศนคติของมารดาต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีความสัมพันธ์กับการเลือกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือเลี้ยงลูกด้วยนมผงดัดแปลงสำหรับทารกอย่างมีนัยสำคัญ1 และมีความสัมพันธ์กับความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่2 จึงเป็นสิ่งที่ทำนายการเลือกการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สัมพันธ์กับการที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์ก่อน การมีบุตรหลายคน การคลอดก่อนกำหนด การที่ทารกจำเป็นต้องอยู่ที่หอผู้ป่วยวิกฤต และการสูบบุหรี่ของมารดา3 ซึ่งจะมีผลต่อการไม่ให้ลูกกินนมแม่ หรือมีการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร การที่จะส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อนมแม่ มารดาและครอบครัวจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การจัดอบรมเพื่อให้ความรู้แก่มารดาเรื่องนมแม่จึงเป็นพื้นฐานที่จะช่วยสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่การเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Scott JA, Shaker I, Reid M. Parental attitudes toward breastfeeding: their association with feeding outcome at hospital discharge. Birth 2004;31:125-31.
  2. Al-Akour NA, Khassawneh MY, Khader YS, Ababneh AA, Haddad AM. Factors affecting intention to breastfeed among Syrian and Jordanian mothers: a comparative cross-sectional study. Int Breastfeed J 2010;5:6.
  3. Ladomenou F, Kafatos A, Galanakis E. Risk factors related to intention to breastfeed, early weaning and suboptimal duration of breastfeeding. Acta Paediatr 2007;96:1441-4.

 

แม่ที่ตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะประสบความสำเร็จมากกว่า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญโดยหากมารดามีความตั้งใจหรือความคาดหวังจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นระยะเวลานาน พบว่าจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานกว่า1-4 ความเครียด ความวิตกกังวลและอาการซึมเศร้าในระยะฝากครรภ์จะเป็นตัวทำนายความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่5,6 นอกจากนี้ยังพบว่า ระดับการศึกษา7 ความใส่ใจต่อข้อแนะนำในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน8 ทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ประวัติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์ก่อน และการสนับสนุนจากสามีมีความสัมพันธ์ต่อความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย9 มีการศึกษาเปรียบเทียบระยะเวลาที่มารดาตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับระยะเวลาหลังคลอดที่มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จริง พบว่าดัชนีมวลกายเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากการที่มารดาได้ตั้งใจไว้10 โดยมารดาที่อ้วนพบว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สั้นกว่า

เอกสารอ้างอิง

  1. Balogun OO, Kobayashi S, Anigo KM, Ota E, Asakura K, Sasaki S. Factors Influencing Exclusive Breastfeeding in Early Infancy: A Prospective Study in North Central Nigeria. Matern Child Health J 2016;20:363-75.
  2. Forster DA, McLachlan HL, Lumley J. Factors associated with breastfeeding at six months postpartum in a group of Australian women. Int Breastfeed J 2006;1:18.
  3. Blyth RJ, Creedy DK, Dennis CL, et al. Breastfeeding duration in an Australian population: the influence of modifiable antenatal factors. J Hum Lact 2004;20:30-8.
  4. Gregory EF, Butz AM, Ghazarian SR, Gross SM, Johnson SB. Met Expectations and Satisfaction with Duration: A Patient-Centered Evaluation of Breastfeeding Outcomes in the Infant Feeding Practices Study II. J Hum Lact 2015.
  5. Insaf TZ, Fortner RT, Pekow P, Dole N, Markenson G, Chasan-Taber L. Prenatal stress, anxiety, and depressive symptoms as predictors of intention to breastfeed among Hispanic women. J Womens Health (Larchmt) 2011;20:1183-92.
  6. Fairlie TG, Gillman MW, Rich-Edwards J. High pregnancy-related anxiety and prenatal depressive symptoms as predictors of intention to breastfeed and breastfeeding initiation. J Womens Health (Larchmt) 2009;18:945-53.
  7. Nguyen PTK, Tran HT, Thai TTT, Foster K, Roberts CL, Marais BJ. Factors associated with breastfeeding intent among mothers of newborn babies in Da Nang, Viet Nam. Int Breastfeed J 2018;13:2.
  8. Wen LM, Baur LA, Rissel C, Alperstein G, Simpson JM. Intention to breastfeed and awareness of health recommendations: findings from first-time mothers in southwest Sydney, Australia. Int Breastfeed J 2009;4:9.
  9. Al-Akour NA, Khassawneh MY, Khader YS, Ababneh AA, Haddad AM. Factors affecting intention to breastfeed among Syrian and Jordanian mothers: a comparative cross-sectional study. Int Breastfeed J 2010;5:6.
  10. Claesson IM, Myrgard M, Wallberg M, Blomberg M. Pregnant women’s intention to breastfeed; their estimated extent and duration of the forthcoming breastfeeding in relation to the actual breastfeeding in the first year postpartum-A Swedish cohort study. Midwifery 2019;76:102-9.

 

การตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  การตัดสินใจให้ลูกกินนมแม่หรือให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกนั้นมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประสบการณ์ในอดีตที่ได้เห็น ช่วย หรือได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ความล้มเหลวหรือความยากลำบากในการให้ลูกกินนมแม่ในครรภ์ก่อน คำบอกเล่าของผู้ใหญ่หรือสามีที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของมารดา ความรู้ของมารดาเกี่ยวกับความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ วัฒนธรรมและค่านิยมของคนในสังคมยังมีผลต่อการตัดสินใจในการให้ลูกกินนมแม่ของมารดาด้วย ซึ่งหากมารดาได้ตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ก็นับเป็นสิ่งที่จะช่วยสนับสนุนและเพิ่มโอกาสที่มารดาจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยการตัดสินใจให้ลูกกินนมแม่นับเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากและเป็นตัวทำนายลักษณะการให้อาหารแก่ทารกแรกเกิด1

เอกสารอ้างอิง

  1. Henderson J, Redshaw M. Midwifery factors associated with successful breastfeeding. Child Care Health Dev 2011;37:744-53.