คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

ยิ่งมารดาอ้วน ยิ่งมีความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การที่จะบอกว่ามารดามีน้ำหนักเกินหรืออ้วนนั้น ต้องดูจากค่าดัชนีมวลกาย ซึ่งต้องใช้น้ำหนักของมารดาก่อนการตั้งครรภ์มาคำนวณ ในกรณีที่พบว่ามารดามีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์อ้วน จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ ระยะคลอด ระยะหลังคลอด รวมถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่ามารดาที่มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์อ้วนจะมีความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรเพิ่มขึ้น1 แต่ปัจจัยที่จะมีผลดีต่อระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ การที่มารดามีอายุมากขึ้น หรือมารดาที่เป็นครรภ์หลังจะลดความเสี่ยงที่จะมีการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร เนื่องจากการที่มารดามีประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาก่อน ดังนั้น การส่งเสริมให้ความรู้แก่สตรีที่มีการวางแผนที่จะมีบุตรให้มีการดูแลให้มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการที่จะป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์และคลอด และยังเป็นการช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.        Claesson IM, Myrgard M, Wallberg M, Blomberg M. The Association Between Covariates, with Emphasis on Maternal Body Mass Index, and Duration of Exclusive and Total Breastfeeding. Breastfeed Med 2020.

ศาสนาอิสลามอาจช่วยในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในคัมภีร์อัลกุลาอานของศาสนาอิสลามจะมีบทที่พูดถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยที่การสื่อสารมักเป็นการสื่อสารและอธิบายจะเป็นระหว่างคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง ซึ่งจะมีโอกาสที่จะมีการสื่อสารที่ขาดตกบกพร่องหรืออาจมีคำอธิบายที่จำกัด ทำให้ขาดการเข้าใจในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เหมาะสม การพัฒนาความเข้าใจในเนื้อหาของบทที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นี้ให้มีการแปลที่เป็นมาตรฐานโดยครอบคลุมแนวคิดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ความเสี่ยงของการที่ทารกไม่ได้กินนมแม่อย่างเดียว และแนวทางการจัดการตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์จนถึงคลอดให้มารดาสามารถเที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว1 ดังนั้น หากชุมชนที่บุคลาการทางการแพทย์ดูแลมีมารดาที่นับถือศาสนาอิสลาม การกระตุ้นให้อิหม่ามที่เป็นผู้ที่ให้ความรู้และให้คำอธิบายในเรื่องศาสนา ได้ช่วยอธิบายในรายละเอียดเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เหมาะสมแก่มารดาในขณะที่เข้าสมรส จะเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อมารดาตั้งครรภ์และคลอด

เอกสารอ้างอิง

1.        Citrakesumasari, Fadhilah, Suriah, Mesra R. Based cultural and religion to education of exclusive breastfeeding for bride. Enferm Clin 2020;30 Suppl 4:127-30.

มารดาต้องล้างเต้านมทุกครั้งไหมก่อนให้นมลูกในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

โดยทั่วไปแล้ว มารดาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการล้างหรือเช็ดเต้านมทุกครั้งที่ทำการให้นมลูก บริเวณเต้านมและหัวนมปกติจะอยู่ในร่มผ้าไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะมีการสัมผัสกับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค สำหรับเชื้อที่พบบนผิวหนังมารดาจะเป็นเชื้อประจำถิ่นที่ทารกจะทำหน้าที่ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของทารกโดยจะไม่เกิดอันตรายแก่ทารก ดังนั้นในกรณีที่มารดาสงสัยหรือมีการติดเชื้อโควิด 19 หลักในการปฏิบัติ ยังยึดหลักเดียวกัน ยกเว้นกรณีที่มารดามีการไอหรือจามรดบริเวณหน้าอกหรือเต้านม1 การล้างเต้านมด้วยสบู่และน้ำจึงจะมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม การทำการล้างเต้านมหรือหัวนมด้วยสบู่และน้ำบ่อย ๆ จะลดไขที่อยู่บริเวณหัวนม อาจทำให้เกิดการเสียดสีในระหว่างทารกดูดนม ก่อให้เกิดอาการเจ็บและหัวนมแตกตามมาได้ การแนะนำให้มารดาใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์จะช่วยลดการแพร่เชื้อจากการไอหรือจามลง และช่วยลดความจำเป็นในการที่จะต้องล้างเต้านมและหัวนมก่อนการให้นมลูกด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.            WHO Frequently Asked Questions : Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.

หากมารดาไม่มีหน้ากากอนามัยให้นมลูกได้ไหมในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หากมารดาไม่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด 19 มารดาสามารถให้นมลูกได้ตามปกติ สำหรับการดูแลความสะอาดในการให้ลูกกินนมจากเต้าและการล้างมือก็ควรทำเป็นปกติตามสุขอนามัยเบื้องต้น หลีกเลี่ยงการเข้าเยี่ยมทารกจากบุคคลอื่นที่ไม่ได้ในครอบครัวหรือบ้านเดียวกัน ในกรณีที่มารดาสงสัยหรือติดเชื้อโควิด 19 ข้อแนะนำคือ มารดาควรสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือใช้แอลกอฮอล์ โดยยังสามารถให้นมลูกอย่างต่อเนื่องได้1 แต่ในกรณีที่มารดาไม่มีหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ มีแต่หน้ากากอนามัยที่ทำเองหรือมีแต่หน้ากากอนามัยผ้า เนื่องจากยังขาดข้อมูลที่ชัดเจนที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ การแนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยที่มีอยู่แทนโดยเปลี่ยนบ่อย ๆ หากมารดามีอาการไอหรือจาม หรือหน้ากากอนามัยชื้นแฉะเป็นเพียงข้อแนะนำจากความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงควรให้คำปรึกษามารดาและครอบครัวถึงประโยชน์ที่จะได้จากการให้นมแม่ต่อเนื่องเทียบกับผลเสียหรือความเสี่ยงในการติดเชื้อ และร่วมกันตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อดีและข้อเสียที่มี น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในสถานการณ์ที่มีความจำเพาะของข้อมูลที่มีความแตกต่างกัน

เอกสารอ้างอิง

1.            WHO Frequently Asked Questions : Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.

มารดาต้องหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไหมหากสงสัยมีการติดเชื้อโควิด 19

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หากมารดามีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด 19 มารดาจะทำการตรวจการติดเชื้อโควิด 19 เพื่อยืนยันผล โดยขณะที่อยู่ในระยะที่สงสัยมีการติดเชื้อโควิด 19 หรือหลังได้รับการตรวจยืนยันแล้วว่าติดเชื้อโควิด 19  หากมารดาไม่ได้มีอาการรุนแรง ในมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่แล้ว มารดาสามารถจะให้ลูกกินนมแม่ต่อได้  แต่มารดาควรมีการดูแลตนเองเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่านไปยังทารก โดยการล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือใช้แอลกอฮอล์ก่อนการสัมผัสทารก ใส่หน้ากากอนามัยและเปลี่ยนหน้ากากอนามัยเมื่อรู้สึกว่าหน้ากากอนามัยชื้น โดยหลังการใช้หน้ากากอนามัยแล้ว ไม่ควรนำหน้ากากอนามัยกลับมาใช้ใหม่1

            สำหรับในกรณีที่มารดามีอาการรุนแรง การดูแลมารดาจำเป็นต้องดูแลที่หอผู้ป่วยวิกฤต มารดาจะมีอาการเหนื่อย หอบ และอาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจ การให้ลูกกินนมแม่จากเต้าหรือการเก็บนมแม่เพื่อนำมาให้กับลูกจะถูกจำกัดโดยอาการของมารดา การให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกอาจมีความจำเป็น

เอกสารอ้างอิง

1.        WHO Frequently Asked Questions : Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.