คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

ท่าอุ้มให้นมลูก ท่านั่งหลังตรง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ท่าอุ้มลูกที่เหมาะสำหรับทารกที่มีปัญหาปากแหว่งเพดานโหว่ หรือทารกที่มีปัญหาการกินและสำรอกหรืออาเจียนได้ง่าย?เนื่องจากการจัดท่าให้นมท่านี้ จะจัดท่าให้ทารกนั่งหลังตรงแนบชิดกับมารดา ซึ่งท่านี้มารดาก็อยู่ในท่านั่งหลังตรงเช่นกัน การจัดท่าให้ทารกนั่งหลังตรงนี้ เวลาทารกกินนม น้ำนมจะไหลลงหลอดอาหาร กระเพาะและลำไส้ได้ดี ทำให้ลดการสำลักซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ทารกที่มีปากแหว่งเพดาโหว่ โดยเฉพาะหากสำลักนมแล้วเข้าไปในปอดหรือทางเดินหายใจ และการจัดให้ทารกดูดนมในท่านี้ ทารกจะเรอออกมาหลังจากกินนมได้ง่าย ตามลักษณะท่าที่ทารกนั่งอยู่ในแนวตรง อย่างไรก็ตาม การจัดท่านี้จำเป็นต้องพยายามให้มารดามีการหนุนบริเวณหลังให้เพียงพอ เพราะหากไม่มีการพิงพนักหรือการหนุนหมอนให้เพียงพอ มารดาจะเมื่อยและให้นมลูกได้ไม่นาน การให้นมในท่านี้จะจัดท่าได้ง่ายขึ้น หากทารกมีอายุมากขึ้น มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและทรงตัวอยู่ในแนวตรงได้ดีขึ้น

 

ท่าอุ้มให้นมลูก ท่าเอนหลัง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ท่าอุ้มลูกอีกท่าหนึ่งที่มีการอ้างว่าช่วยในการกระตุ้นพัฒนาการของทารกได้ดี คือ ท่าเอนหลัง (laid-back hold) ท่านี้จะจัดท่าให้มารดาเอนหลังพิงพนักหรือหมอนหนุนที่จะทำให้มารดารู้สึกสบายขณะที่ให้นมลูก ส่วนการจัดท่าทารกนั้น จัดให้ทารกลำตัวแนบชิดกับมารดาโดยจะอยู่ในแนวตั้ง แนวเอียง หรือแนวขวาง แล้วแต่ความสะดวกของมารดาและทารก โดยหากเป็นการให้นมหลังผ่าตัดคลอด จะเลี่ยงตำแหน่งที่วางทารกไม่ให้ทับแผลผ่าตัดคลอด ซึ่งการที่ทารกได้สัมผัสกับมารดาอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาน่าจะช่วยกระตุ้นกลไกการตอบสนองพื้นฐาน (reflex) และพัฒนาการ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาเปรียบเทียบการเข้าเต้าและความพึงพอใจของมารดาที่ผ่าตัดคลอดในการให้นมลูกในท่าเอนหลังและท่านอนตะแคง พบว่าเมื่อเปรียบเทียบคะแนนการเข้าเต้าแล้วพบว่าไม่มีความแตกต่างกัน ในส่วนความพึงพอใจของมารดาพบว่ามารดาที่ให้นมลูกในท่านอนตะแคง มารดาจะรู้สึกสบายกว่าเมื่อให้เป็นเวลานาน ดังนั้น การที่จะเลือกใช้ท่าใดท่าหนึ่งในการให้นมลูกนั้น ยังคงขึ้นอยู่กับการที่มารดาให้นมลูกแล้ว ทารกอมหัวนมและลานนมได้ดี ร่วมกับมารดารู้สึกสบาย และให้นมลูกได้นาน ซึ่งหากจัดท่าให้ลูกได้มีการสัมผัสผิวกับมารดาในระหว่างที่ให้นมลูกด้วย ท่าในการให้นมลูกนั้น ก็น่าจะช่วยกระตุ้นกลไกการตอบสนองพื้นฐานของทารกและกระตุ้นพัฒนาการของทารกเช่นกัน1

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Laosooksathit W, Hanprasertpong T, Ketsuwan S. Comparison of Breastfeeding Outcomes Between Using the Laid-Back and Side-Lying Breastfeeding Positions in Mothers Delivering by Cesarean Section: A Randomized Controlled Trial. Breastfeed Med 2017;12:233-7.

 

ท่าอุ้มให้นมลูกในท่าไกวเปลประยุกต์

cross cradle position picture

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ท่าอุ้มลูกไกวเปลประยุกต์ ลักษณะของการอุ้มลูกให้นมจะคล้ายกับท่าไกวเปล คือใช้มือและแขนรองรับใต้ตัวทารก ซึ่งเช่นเดียวกัน มารดาจะรู้สึกมั่นคงในการอุ้มทารก แต่มือที่ใช้รองใต้ตัวทารกจะเป็นมือด้านตรงข้ามกับเต้านม เช่น หากให้ลูกกินนมเต้านมซ้าย จะใช้มือและแขนขวาประคองใต้ลำตัวทารก โดยมือขวาจะประคองบริเวณท้ายทอยหรือลำคอของทารกขณะที่ทารกดูดนมจากเต้านมด้านซ้าย การที่มือของมารดาอยู่ที่คอและท้ายทอยของทารกจะทำให้ควบคุมจังหวะการนำทารกเข้าอมหัวนมและลานนมได้ดี จึงเป็นข้อดีของการจัดท่าให้นมลูกในท่านี้ ซึ่งหากทารกคลอดก่อนกำหนด หรือน้ำหนักตัวน้อยจังหวะการอ้าปากอมหัวนมและลานนมอาจทำได้ไม่ดี การช่วยควบคุมจังหวะจากมารดาอาจช่วยให้การอมหัวนมและลานนมทำได้ดีขึ้น เนื่องจากท่านี้ใช้มือขวาในการควบคุมขณะให้นมที่เต้านมซ้าย และใช้มือซ้ายควบคุมในขณะให้นมที่เต้านมด้านขวา จึงอาจเรียกท่านี้ว่า ท่าไกวเปลแบบสลับมือ หรือท่าไกวเปลแบบประยุกต์ มารดาจำเป็นต้องเรียนรู้ท่าต่างๆ ในการให้นมลูกให้ได้อย่างเหมาะสมอย่างน้อย 2 ท่าก่อนออกจากโรงพยาบาล จะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานกว่า1

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Manolerdtewan W, Ketsuwan S, Sinutchanan W. The Number of Infant Feeding Positions and the 6-Month Exclusive Breastfeeding Rates. J Med Assoc Thai 2015;98:1075-81.

 

ท่าอุ้มให้นมลูก ท่าไกวเปล

cradle position picture

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ท่าอุ้มลูกที่มารดามักคุ้นเคยและเห็นได้บ่อยในลักษณะที่เป็นการอุ้มทารก คือ ท่าไกวเปล (cradle? hold) ท่านี้มือแขนของมารดาจะรองรับตัวของทารก ขณะที่ศีรษะทารกจะอยู่บริเวณข้อพับของมารดา มารดาจะรู้สึกมั่นคงในการอุ้มทารก ลักษณะของมือที่รองรับทารกจะเสมือนเปลญวนที่ใช้นอน จึงเรียกชื่อว่า ท่าไกวเปล อย่างไรก็ตาม ท่านี้หากมารดาเต้านมใหญ่ หรือมีหัวนมขนาดใหญ่ การอ้าปากเพื่ออมหัวนมและลานนมของทารกอย่างเหมาะสมอาจทำได้ลำบาก การจัดท่าให้ทารกแนบชิดมารดาอาจทำได้ยาก ซึ่งทำให้การเข้าเต้าอาจยากลำบากไปด้วย ทารกอาจหงุดหงิด งอแง ทำให้มารดาพาลเข้าใจผิดว่า ลูกไม่ต้องการกินนมแม่ หรือนมแม่ไม่เพียงพอ ดังนั้น หากจัดท่าอุ้มลูกให้นมในท่าไกวเปลแล้ว ทารกอมหัวนมและลานนมได้ไม่ดี แนะนำให้มารดาลองเลือกใช้ท่าอื่นๆ ในการให้นมลูก ซึ่งมีให้เลือกหลายท่า แล้วแต่ความพึงพอใจและรู้สึกสบายของมารดาและทารกในการกินนม1

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

การให้นมลูกท่านอนตะแคงข้าง

side-lying position picture

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ท่าที่ให้นมลูกอีกท่าหนึ่งที่นิยมใช้ในกรณีที่มารดาผ่าตัดคลอด ได้แก่ ท่านอนตะแคงข้าง เนื่องจากท่านี้ทารกจะอยู่บนเตียงข้างมารดา ไม่กดทับแผลผ่าตัด ขณะเดียวกันมารดาสามารถพักผ่อนไปพร้อมกับให้ทารกดูดนมได้ การจัดท่าทำโดยมารดาและทารกหันหน้าเข้าหากัน ทารกแนบชิดกับด้านข้างลำตัวของมารดา หน้าของทารกหันเข้าหาเต้านม จัดให้ตำแหน่งของจมูกอยู่ที่ระดับหัวนม และขยับทารกเข้าหาเต้านมเมื่อทารกอ้าปากกว้างพร้อมที่จะอมหัวนมและลานนม อย่างไรก็ตามในกรณีที่มารดาอายุน้อย อ่อนเพลียมาก หรือได้รับยาแก้ปวดที่รบกวนการรู้ตัวของมารดา หรือมารดาที่ติดบุหรี่ เหล้า หรือสารเสพติดอื่น ๆ อาจมีความเสี่ยงในขณะที่มารดานอนหลับและเบียดทับทารกได้ จึงควรใส่ใจและให้ความระมัดระวังในกรณีที่มารดามีความเสี่ยงดังกล่าว เพื่อป้องกันอันตรายที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตของทารกได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017