รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การศึกษาจะเป็นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ คนที่มีระดับการศึกษาที่สูง จะมีโอกาสในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น มารดาที่มีระดับการศึกษาที่สูง จะมีโอกาสในการเรียนรู้ประโยชน์และเข้าใจถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มากกว่า และหาสิ่งสนับสนุนที่ช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีกว่า ดังนั้น จึงมีการศึกษาพบว่า ระดับการศึกษามีความสำคัญกับความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนนอกจากนี้ มารดาที่มีระดับการศึกษาต่ำ เศรษฐานะต่ำ และทำงานรับจ้างเต็มเวลา จะมีความสัมพันธ์กับการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนหกเดือนมากกว่า1 จะเห็นว่า ปัจจัยเหล่านี้มักสัมพันธ์กันคือ มารดาที่มีระดับการศึกษาสูง มักได้ทำงานที่ดีกว่า เลือกงานได้มากว่า ทำให้มักมีเศรษฐานะที่สูงกว่า ขณะที่มารดาที่มีระดับการศึกษาต่ำ หางานได้ยาก ไม่มีโอกาสที่จะเลือกงาน ทำให้มักพบมีเศรษฐานะที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม การศึกษาในระบบเป็นเพียงการสร้างโอกาสพื้นฐาน ขณะที่ความสนใจในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จะเป็นการสร้างโอกาสที่ไม่สิ้นสุด
“ดังนั้นในชีวิตมนุษย์ การที่จะประสบความสำเร็จ ไม่ควรหยุดสร้างโอกาส ซึ่งก็คือ ควรมีการเรียนรู้ตลอดเวลานั่นเอง”
เอกสารอ้างอิง
1. Chimoriya R, Scott JA, John JR,
et al. Determinants of Full Breastfeeding at 6 Months and Any Breastfeeding at 12 and 24 Months
among Women in Sydney: Findings from the HSHK Birth Cohort Study. Int J Environ
Res Public Health 2020;17.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ปัจจุบันมีการศึกษาถึงการแสดงออกของพันธุกรรมผ่านยีน ซึ่งมียีนที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน โรคเมตาบอลิก ที่ใช้ตรวจสอบหลายตัว ได้แก่ ยีน FTO ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วนจากหลายสาเหตุ ยีน CPT1A สัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วน โรคเมตาบอลิก โรคไขมันในตับ (fatty liver) และโรคเบาหวาน และยีน PPAR-α ซึ่งจะสัมพันธ์กับการลดหรือป้องกันการเกิดภาวะน้ำหนักเกิน มีการนำการแสดงออกของยีนมาใช้ในการตรวจสอบทารกที่กินนมแม่ กินนมแม่ร่วมกับนมผงดัดแปลงสำหรับทารก และทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก โดยพบว่า ทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก และทารกที่กินนมแม่ร่วมกับนมผงดัดแปลงสำหรับทารก จะมีการแสดงออกของยีน FTO และยีน CPT1A มากกว่าทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว ซึ่งแสดงว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน โรคเมตาบอลิก โรคไขมันในตับ และโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น และมีการแสดงออกของยีน PPAR-α ต่ำกว่าทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว ซึ่งแสดงว่ามีการป้องกันการเกิดภาวะน้ำหนักเกินต่ำหรือก็คือเสี่ยงต่อการเกิดน้ำหนักเกินนั่นเอง1 ดังนั้น สิ่งนี้แสดงถึง “อาหารสำหรับทารกที่แตกต่างกันมีผลต่อการแสดงออกของพันธุกรรมที่แตกต่างกันด้วย” ซึ่งการศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจัยเหนือพันธุกรรมอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเกิดโรคอ้วนจะช่วยลดการเกิดโรคอ้วนเพิ่มเติมจากการให้ทารกได้กินนมแม่อย่างเดียว
เอกสารอ้างอิง
1. Cheshmeh S, Nachvak SM, Rezvani
N, Saber A. Effects of Breastfeeding and Formula Feeding on the Expression
Level of FTO, CPT1A
and PPAR-alpha Genes in Healthy Infants. Diabetes Metab Syndr Obes 2020;13:2227-37.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โรคโควิด 19 เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส ซึ่งได้มีการศึกษาถึงธรรมชาติของโรค การวินิจฉัย การรักษาและการป้องกัน โดยในหลาย ๆ ด้านเริ่มมีความรู้เกี่ยวกับตัวโรคเพิ่มมากขึ้น แต่ในเรื่องเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังมีข้อมูลน้อย แม้ว่าจะมีรายงาน 2 รายงานที่มีการพบเชื้อโคโรนาไวรัสในนมแม่ แต่เชื้อที่พบไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเชื้อที่มีชีวิต (ทำให้เกิดโรคในทารกและติดต่อได้) เป็นเชื้อที่ตายแล้วหรือเป็นชิ้นส่วนของเชื้อ (ไม่มีอันตรายต่อทารก) ดังนั้นข้อมูลในเรื่องการติดเชื้อผ่านนมแม่จึงยังไม่มีความชัดเจน และเนื่องจากการแยกมารดาและทารก และการงดการให้ลูกกินนมแม่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของมารดาและทารกมากกว่า1 ข้อแนะนำขององค์กรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ จึงยังแนะนำให้มารดาที่สงสัยหรือติดเชื้อโควิด 19 สามารถให้นมลูกจากเต้าหรือบีบเก็บน้ำนมแม่ให้ลูกได้ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเรื่องอาหารสำหรับทารกแรกเกิด ควรจะมีการร่วมปรึกษาระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับมารดาและครอบครัว ซึ่งการให้ข้อมูลที่ทันสมัยและถูกต้องควรเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ สำหรัลส่วนการตัดสินใจหลักจะอยู่ที่มารดาและครอบครัว
เอกสารอ้างอิง
1. Cheema R, Partridge E, Kair LR,
et al. Protecting Breastfeeding during the COVID-19 Pandemic. Am J
Perinatol 2020.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
สุขภาพจิตของมารดามีผลต่อการตั้งครรภ์และการให้นมบุตรหลังคลอด มารดาที่มีภาวะเครียดหรืออาการซึมเศร้าจะความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 และมีมาตรการจำกัดการออกจากบ้าน (lockdown) ในประเทศเบลเยี่ยม มีการออกแบบสำรวจภาวะสุขภาพจิตของมารดาตั้งครรภ์และให้นมบุตรออนไลน์ ซึ่งมีมารดาที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรตอบกลับจำนวน 5866 รายพบว่า มารดาเกือบครึ่งหนึ่งมีภาวะเครียดหรืออาการซึมเศร้า โดยจำนวนที่พบนี้เพิ่มจากภาวะปกติราว 2-3 เท่า1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์เอาใจใส่ดูแลมารดาแบบองค์รวม (holistic approach) โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพจิตเพิ่มเติมนอกเหนือจากการให้การดูแลมารดาที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรตามปกติ ซึ่งเมื่อมารดามีสุขภาพกายและจิตที่ดี จะส่งผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. Ceulemans M, Hompes T, Foulon V.
Mental health status of pregnant and breastfeeding women during the COVID-19 pandemic:
A call for action. Int J Gynaecol Obstet 2020.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ปกติเมื่อทารกแรกเกิดมีอาการปากแหว่งเพดานโหว่ การผ่าตัดแก้ไขมักจะทำเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นอายุอยู่ในช่วง 1-2 ปี โดยในระยะแรกการดูแลทารกให้กินนมแม่จะมีความยากลำบากเนื่องจากทารกจะสร้างแรงดูดในช่องปากได้ไม่ดี จึงต้องมีการดูแลทารกอย่างใกล้ชิดเพื่อสนับสนนนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ในปัจจุบันได้มีการผ่าตัดแก้ไขทารกที่มีปากแหว่งเพดานโหว่ตั้งแต่ในช่วงแรกหลังคลอด โดยทำผ่าตัดแก้ไขใน 1-2 สัปดาห์ หลังผ่าตัดเมื่อทารกมีความพร้อม ก็สามารถเริ่มให้ทารกินนมแม่ได้ มีการศึกษาถึงอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่ทำการผ่าตัดแก้ไขปากแหว่งเพดานโหว่ตั้งแต่ในช่วงแรกหลังคลอดพบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของทารกกลุ่มนี้ไม่ได้แตกต่างกับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของทารกที่ไม่ได้มีปากแหว่งเพดานโหว่1 นี่ก็แสดงว่า ในที่ที่มีความพร้อมในการที่จะทำการผ่าตัดทารกที่มีปากแหว่งเพดาโหว่ การผ่าตัดแก้ไขตั้งแต่ในช่วงแรกจะเป็นผลดีต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
1. Burianova I, Cerny M, Borsky J,
et al. Duration of Surgery, Ventilation, and Length of Hospital Stay Do Not
Affect Breastfeeding in Newborns After Early Cleft Lip Repair. Cleft Palate
Craniofac J 2020:1055665620949114.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)