การให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวช่วยจุลชีพที่มีประโยชน์ในลำไส้ของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? เรื่องของจุลชีพที่มีประโยชน์ในลำไส้ของทารกจะมีความเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและควบคุมระบบภูมิคุ้มกันให้เป็นปกติ นอกจากนี้จุลชีพที่อยู่ในลำไส้จะเป็นจุลชีพประจำถิ่นที่ช่วยปกป้องการติดเชื้อจากเชื้อที่จะทำให้เกิดโรค ผลเหล่านี้จึงนำมาสู่การลดการเสียชีวิตของทารกในช่วงระยะแรกหลังคลอด (neonatal death) จากการติดเชื้อในทางเดินอาหารและอาการท้องเสีย และช่วยลดกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับภูมิแพ้ เช่น ผิวหนังอักเสบและหอบหืด มีการศึกษาพบว่านมแม่นั้นจะเป็นพรีไบโอติก (prebiotic) คือเป็นอาหารที่ดีของจุลชีพที่มีประโยชน์เหล่านี้ในลำไส้ ซึ่งจะช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของจุลชีพนี้ในลำไส้ การให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวหกเดือนจะคงสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมของจุลชีพที่เหมาะสมในลำไส้ได้จากการติดตามเป็นระยะเวลาหนึ่งปี แต่หากทารกกินนมแม่ร่วมกับนมผงดัดแปลงสำหรับทารกหรือให้อาหารอื่นก่อนเดือนที่ห้า สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับจุลชีพที่มีประโยชน์จะเปลี่ยนแปลงไป1 ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของทารก สิ่งที่พบนี้น่าจะสนับสนุนข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวหกเดือน จากนั้นกินนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยต่อเนื่องจนกระทั่งสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Carvalho R, II, Duarte RTD, Brandt KG, Martinez MB, Taddei CR. Breastfeeding increases microbial community resilience. J Pediatr (Rio J) 2018;94:258-67.