รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? ? หากตรวจพบว่าทารกแรกเกิดมีภาวะลิ้นติดอาจทำให้ทารกมีการจำกัดในการเคลื่อนไหวของลิ้น ซึ่งหากทำให้ทารกไม่สามารถแลบลิ้นออกไปวางอยู่ใต้ลานนม จะทำให้กลไกที่จะช่วยให้เกิดการระบายน้ำนมจากท่อน้ำนมที่อยู่ใต้ลานนมไม่สามารถเกิดได้ ทารกจึงต้องออกแรงในการดูดนมมากขึ้น เมื่อออกแรงในการดูดนมมากขึ้นแล้วยังไม่ช่วยให้น้ำนมไหลดี ทารกจะใช้เหงือกงับกดหัวนม ทำให้มารดาที่มีทารกมีภาวะลิ้นติดเกิดอาการเจ็บหัวนมขณะทารกดูดนมได้ ซึ่งลักษณะนี้แสดงถึงการเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม ทารกจะร้องไห้งอแงขณะกินนมเพราะดูดนมได้ไม่ดี เป็นผลทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวขึ้นน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ มารดาจึงอาจแก้ปัญหาโดยการให้ลูกกินนงผงดัดแปลงสำหรับทารกจากขวด ซึ่งการดูดนมจากขวดนั้นไม่ต้องการการยื่นลิ้นหรือแลบลิ้นออกมากดที่จุกนม น้ำนมจะไหลได้สะดวกและง่ายอยู่แล้วตามแรงโน้มถ่วงของโลกโดยทารกแทบจะไม่ต้องออกแรงดูด ทารกจึงติดการดูดนมจากจุกนม และทำให้หยุดการกินนมแม่ก่อนระยะเวลาอันควรได้ อีกกรณีหนึ่งคือ หากมารดาให้นมลูกไปทั้ง ๆ ที่มีอาการเจ็บหัวนม อาจทำให้เกิดหัวนมแตก เต้านมอักเสบ และฝีที่เต้านมตามมาได้ หากไม่ได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาการเจ็บหัวนมและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นนี้ทำให้มารดามีความเสี่ยงในการหยุดการให้นมลูกก่อนเวลาอันควรเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
- Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.
- Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.