รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? โดยทั่วไป หลังจากการคลอด บุคลากรทางการแพทย์จะทำการตรวจร่างกายทารก และตรวจในช่องปากทารก หากพบว่าทารกมีภาวะลิ้นติด จะมีการประเมินเพิ่มเติม คือ ประเมินว่าทารกสามารถเข้าเต้าหรือดูดนมได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ หากมีภาวะลิ้นติดปานกลางถึงมากจะทำให้ยากในการที่จะเข้าเต้าได้อย่างเหมาะสม ทำให้มารดาเจ็บหัวนม หัวนมแตก และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่ เต้านมอักเสบหรือฝีที่เต้านม1 อย่างไรก็ตาม การขาดบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญในการประเมินภาวะลิ้นติดส่งผลต่อการขาดการคัดกรองภาวะลิ้นติดในทารกที่ดี ทารกที่มีภาวะลิ้นติดบางคนอาจกลับบ้านไปพร้อมกับมารดาโดยไม่ได้รับการวินิจฉัย แล้วมารดาจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกมีภาวะลิ้นติด การช่างสังเกตจะช่วยมารดาได้ หากมารดาเจ็บหัวนมขณะทารกดูดนม เมื่อมารดาสังเกตการดูดนมของลูกแล้ว ลูกดูดเฉพาะหัวนม หลังจากปรับเปลี่ยนท่าที่ให้นมลูกให้ลูกมีโอกาสได้อมหัวนมและลานนมลึกขึ้นแล้ว ยังไม่ได้ผล ลูกยังคงดูดเฉพาะหัวนมและมารดายังเจ็บหัวนมอยู่ ลองสังเกตชณะทารกร้องไห้ หากเห็นพังผืดใต้ลิ้นยึดมาถึงปลายลิ้น แสดงว่าทารกมีภาวะลิ้นติด ซึ่งควรจะกลับไปขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อช่วยประเมินและให้การวินิจฉัยถึงความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดรักษา ซึ่งการผ่าตัดรักษาก็สามารถทำได้ง่ายที่แผนกผู้ป่วยนอก ใช้เวลาราว 5 นาที โดยหลังทำทารกจะเข้าเต้าได้ดีขึ้นและสามารถดูดนมแม่ได้ทันทีโดยไม่ต้องทำการพักฟื้น2
เอกสารอ้างอิง
- Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.
- Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.