รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การเจ็บหัวนมขณะที่ทารกดูดนม อาจเกิดจากน้ำนมไหลมากหรือเร็วเกินไปได้ โดยทารกจะพยายามควบคุมให้น้ำนมไหลช้าลงด้วยการออกแรงในการงับหัวนมมากขึ้นเพื่อชะลอการไหลของน้ำนม ซึ่งจะทำให้มารดาเจ็บหัวนม อาการนี้มักเกิดเมื่อมีน้ำนมมาดีหรือมากแล้ว โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วง 3-4 วันหลังคลอด อาการเจ็บหัวนมมักเป็นมากในช่วงเริ่มกินนมที่น้ำนมในเต้ายังมีมาก ผู้ดูแลหรือมารดาจะสังเกตได้จาก มารดามีน้ำนมมามาก ทารกอาจมีอาการของการกินนมที่มากเกินไป ได้แก่ สำรอกหรือแหวะนม ขับถ่ายบ่อย และน้ำหนักขึ้นเร็ว
??????????????? การช่วยเหลือสำหรับปัญหานี้ เริ่มต้นด้วยการจัดท่าให้นมที่เหมาะสม โดยให้ศีรษะทารกสามารถขยับได้อย่างเหมาะสมเพื่อช่วยควบคุมปริมาณน้ำนมที่ไหลเร็วเกินไป การจัดท่าที่มารดาเอนหลัง นอนเอนหลังหรือนอนราบขณะให้นมจะช่วยไม่ให้น้ำนมไหลเข้าปากทารกเร็วเกินไป หรือการบีบน้ำนมออกก่อนการให้นมและเก็บน้ำนมไว้ก็ช่วยลดความเร็วในการไหลของน้ำนมได้ โดยน้ำนมที่เก็บไว้ อาจนำมาให้ทารกกินได้ เมื่อมารดาไม่สะดวกจะให้นม ซึ่งมารดาสามารถเลือกใช้การแก้ปัญหาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือใช้ร่วมกันหลายวิธีก็ได้ เมื่อควบคุมให้น้ำนมไม่ไหลเร็วเกินไปแล้ว การเจ็บหัวนมขณะทารกดูดนมควรหายไป
เอกสารอ้างอิง
- Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.