โรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

          สตรีที่เป็นโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หรือ hypothyroid จะมีผิวแห้ง ขี้หนาว ผมร่วง ท้องผูก ซึมเศร้า ประจำเดือนจะมาบ่อยและมามาก และอาจตรวจพบมีต่อมไทรอยด์โตเล็กน้อย ซึ่งอาการของโรค หากขาดการสังเกตหรือใส่ใจ ก็มักถูกมองข้าม การที่สตรีมีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำจะมีผลต่อการตกไข่ ซึ่งทำให้สตรีมีบุตรยากได้ และในกรณีที่สตรีสามารถตั้งครรภ์ จะพบภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ได้แก่ การมีภาวะเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ การผ่าตัดคลอด การคลอดก่อนกำหนด1 ทารกมีเส้นรอบวงของศีรษะต่ำ2 และทารกน้ำหนักตัวน้อยเพิ่มขึ้น โดยในระยะหลังคลอด จะพบมารดามีน้ำนมมาน้อยได้

ในกรณีที่มารดาไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำมาก่อน หากมารดามีพบแพทย์ด้วยเรื่องน้ำนมมาน้อย การตรวจไทรอยด์ก็มีความจำเป็น นอกจากนี้ยังพบมารดามีน้ำนมมาน้อยในมารดาที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ด้วย โดยที่มารดาในกลุ่มเหล่านี้จะแสดงอาการที่บ่งบอกว่ามีพัฒนาการของเต้านมที่ผิดปกติในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอด ได้แก่ มีการขยายของเต้านมในระหว่างการตั้งครรภ์น้อย มีอาการคัดตึงเต้านมน้อยในระยะหลังคลอด นมแม่มาช้า และมาน้อย แม้ว่าจะมีทารกดูดกระตุ้นน้ำนมอย่างเหมาะสม บุคลากรทางการแพทย์จึงควรเอาใจใส่ ซักถาม และสังเกตอาการที่บ่งบอกถึงโรคเหล่านี้ เพราะหากมารดาได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะทำให้มารดามีน้ำนมเพิ่มขึ้น โอกาสที่ทารกจะได้กินนมแม่ก็เพิ่มขึ้นด้วย

 เอกสารอ้างอิง

  1. Turunen S, Vaarasmaki M, Mannisto T, et al. Pregnancy and Perinatal Outcome Among Hypothyroid Mothers: A Population-Based Cohort Study. Thyroid 2019;29:135-41.
  2. Laron-Kenet T, Silbergeld A, Lilos P, Laron Z. Neonates of hypothyroid mothers have a below-normal head circumference. Isr Med Assoc J 2019;21:568.