รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า หากมารดาเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจะช่วยส่งเสริมให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวมได้ มีการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า มารดาที่พักอยู๋ในเขตชุมชนเมือง มารดาครรภ์หลัง มารดาที่มีการฝากครรภ์ มารดาที่คลอดในสถานพยาบาล และมารดาที่คลอดปกติทางช่องคลอด จะส่งผลดีต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้นในมารดาที่พักอยู่ในชนบท มารดาครรถ์แรก มารดาที่ไม่ได้มีการฝากครรภ์มาก่อน มารดาที่คลอดบุตรที่บ้าน และมารดาที่ผ่าตัดคลอดล้วนมีความเสี่ยงที่จะเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า โดยเฉพาะหากเริ่มต้นช้ากว่า 6 ชั่วโมงหลังคลอด จะส่งผลเสียทำให้มารดามีโอกาสที่หยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร การเอาใจใส่และให้คำปรึกษาในมารดากลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ จะลดปัญหาและเพิ่มความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
เอกสารอ้างอิง
- Mekonen L, Seifu W, Shiferaw Z. Timely initiation of breastfeeding and associated factors among mothers of infants under 12 months in South Gondar zone, Amhara regional state, Ethiopia; 2013. Int Breastfeed J 2018;13:17.