โรคความดันโลหิตสูงกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตอนที่ 5

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ยาลดความดันโลหิตในกรณีมารดามีความดันโลหิตสูงมาก

  • Labetalol เป็นยาลดความดันโลหิตที่ให้ทางหลอดเลือดดำ ใช้ในกรณีที่มารดามีความดันโลหิตสูงมากคือ ความดันโลหิต systolic เท่ากับหรือมากกว่า 160 มิลลิเมตรปรอท หรือความดันโลหิต diastolic เท่ากับหรือมากกว่า 110 มิลลิเมตรปรอท หลังจากการวัดความดันโลหิตซ้ำ ซึ่งการวัดซ้ำห่างกันอย่างน้อย 15 นาทีและต้องการควบคุมหรือลดความดันโลหิตลงอย่างรวดเร็ว โดยยาออกฤทธิ์ภายใน 1-2 นาที1 ตัวยาจะจับกับโปรตีนในกระแสเลือดร้อยละ 50 ค่าขนาดยาของทารกสัมพัทธ์ (relative infant dose หรือ RID) ซึ่งจะคำนวณเป็นสัดส่วนร้อยละของขนาดยาที่ทารกได้รับต่อวันเทียบกับขนาดยาที่มารดาได้รับต่อวันพบว่ามีค่าอยู่ระหว่างร้อยละ 0.004-0.07 ซึ่งต่ำมาก2 โดยทั่วไปหากค่าขนาดยาของทารกสัมพัทธ์มากกว่าร้อยละ 10 ถือว่าเป็นค่าที่ต้องวิตกกังวลว่าทารกอาจมีความเสี่ยง  ยานี้ออกฤทธิ์ในการเพิ่มฮอร์โมนโพรแลกตินด้วย3 แต่ไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มปริมาณน้ำนมในมารดาที่ให้ลูกกินนมแม่อยู่แล้ว สำหรับการใช้ยาเพื่อลดความดันโลหิตสูงมากและใช้ยาในรูปแบบยาฉีดในช่วงระยะเวลาสั้น ยังไม่พบรายงานการเกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

                อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังในการใช้ยาในกรณีที่มารดาคลอดทารกก่อนกำหนด เนื่องจากมีรายงานการพบการเกิดภาวะหัวใจเต้นช้า (bradycardia) และการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ (premature beats) ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่กินนมแม่ในมารดาที่ใช้ยานี้ชนิดรับประทานต่อเนื่อง4 นอกจากนี้ มีรายงานการพบอาการเจ็บหัวนมจากหัวนมขาดเลือดจากการหดตัวของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณหัวนม (Raynaud’s phenomenon) ในมารดาที่ใช้ยานี้รับประทานต่อเนื่อง โดยอาการเจ็บหัวนมจะสามารถหายไปเป็นปกติดได้เองเมื่อมารดาหยุดการใช้ยา5

เอกสารอ้างอิง

  1. ACOG Practice Bulletin No. 202: Gestational Hypertension and Preeclampsia. Obstet Gynecol 2019;133:e1-e25.
  2. Atkinson HC, Begg EJ, Darlow BA. Drugs in human milk. Clinical pharmacokinetic considerations. Clin Pharmacokinet 1988;14:217-40.
  3. Barbieri C, Larovere MT, Mariotti G, Ferrari C, Caldara R. Prolactin stimulation by intravenous labetalol is mediated inside the central nervous system. Clin Endocrinol (Oxf) 1982;16:615-9.
  4. Mirpuri J, Patel H, Rhee D, Crowley K. What’s mom on? A case of bradycardia in a premature infant on breast milk. J Invest Med 2008;56:409.
  5. McGuinness N, Cording V. Raynaud’s phenomenon of the nipple associated with labetalol use. J Hum Lact 2013;29:17-9.