เมลาโทนิน บทบาทในทารกที่กินนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               เมลาโทนิน (melatonin) เป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทต่อการนอนหลับ ภูมิคุ้มกัน ภาวะซึมเศร้า ภาวะเจริญพันธุ์ และการตกไข่ในสตรี แล้วมาเกี่ยวอะไรกับการกินนมแม่ มีการศึกษาวิจัยพบว่า ในทารกที่กินนมแม่จะมีกระบวนการกระตุ้นภูมิคุ้มกันผ่านระบบน้ำเหลืองของทารกในลำไส้ ซึ่งการกระตุ้นภูมิคุ้มกันนี้จะมีผลต่อการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนินด้วย1 ซึ่งเมื่อดูบทบาทของฮอร์โมนนี้ที่น่าจะมีต่อทารก ได้แก่ ผลต่อการนอนหลับที่จะช่วยในการพัฒนาการของระบบประสาทและสมองของทารก ผลต่อภูมิคุ้มกันโดยช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่ต่อต้านเชื้อโรคที่หลากหลาย ผลต่อภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากฮอร์โมนเมลาโทนินมีผลต่อเซอโรโทนิน (serotonin) ที่เป็นสารสำคัญที่มีผลต่ออารมณ์และสภาพจิตใจ หากการหลั่งเมลาโทนินถูกควบคุมให้พอเหมาะ ทำให้การหลับได้ดี จะป้องกันภาวะซึมเศร้า ขณะที่การหลั่งเมลาโทนินมากเกินอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า  และผลต่อการตกไข่ ประจำเดือน และมีการบุตรจะถูกยับยั้งโดยระดับเมลาโทนินที่สูงจนกว่าทารกเจริญเติบโตขึ้น ดังนั้น รากฐานของความสัมพันธ์ของฮอร์โมนเมลาโทนินที่มีความเชื่อมโยงกับการกินนมแม่ของทารก อาจจะเป็นสิ่งที่อธิบายกลไกในการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์จากการกินนมแม่เมื่อทารกเติบโตขึ้นในอนาคต ซึ่งต้องการการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในรายละเอียดต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Anderson G, Vaillancourt C, Maes M, Reiter RJ. Breastfeeding and the gut-brain axis: is there a role for melatonin? Biomol Concepts 2017.