อะไรคืออุปสรรคที่บุคลากรทางการแพทย์รู้สึกในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? หากตั้งคำถามกับบุคลากรทางการแพทย์ว่า อะไรเป็นอุปสรรคที่บุคลากรทางการแพทย์รู้สึกเมื่อต้องให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกหลังคลอด คำตอบที่มักได้รับคือ ขาดนโยบาย แนวทางการปฏิบัติ และกำลังคนที่พอเพียงจะดำเนินการในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ตามมาตรฐานของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ซึ่งกระบวนการนั้นเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ให้มารดาเห็นประโยชน์ความสำคัญของการให้ทารกได้กินนมแม่ ทำให้มารดามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จากนั้น เมื่ออยู่ในระยะคลอดและหลังคลอด หลีกเลี่ยงกระบวนการดูแลการคลอดที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น การผ่าตัดคลอดโดยขาดข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และมีการเตรียมความพร้อมของมารดาที่จะกระตุ้นการดูดนมแม่ตั้งแต่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ การสอนมารดาจัดท่าให้นมลูก สอนมารดาบีบน้ำนมด้วยมือ และประเมินว่ามารดาสามารถให้ลูกกินนมแม่โดยมีการจัดท่าให้นมที่ถูกต้องก่อนอนุญาตให้กลับบ้าน หลังมารดากลับบ้านควรมีการติดตามเยี่ยมบ้านภายในสัปดาห์แรกหลังคลอดและติดตามมารดาเป็นระยะ ๆ พร้อมทั้งให้ช่องทางติดต่อสื่อสารหากมารดาพบปัญหาหรืออุปสรรคที่ต้องการได้รับคำปรึกษา ซึ่งการดูแลควรครอบคลุมถึงบิดา และญาติผู้มีบทบาทในการช่วยดูแลทารก การที่จะปฏิบัติเช่นนี้ได้ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพ อาสาสมัครสาธารณสุข มารดาอาสา และความร่วมมือของมารดาและญาติ1? อย่างไรก็ดี นโยบายที่ชัดเจนประกอบกับแนวทางการปฏิบัติที่สามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การสนับสนุนทางด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ และทรัพยากรบุคคลที่เพียงพอโดยมีการพัฒนาความรู้และทักษะให้ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ มีค่าตอบแทนและบันไดอาชีพที่เหมาะสม จะช่วยให้ระบบการทำงานมีความพัฒนา ก้าวหน้า และยั่งยืนได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Anstey EH, Coulter M, Jevitt CM, et al. Lactation Consultants’ Perceived Barriers to Providing Professional Breastfeeding Support. J Hum Lact 2018;34:51-67.

?