หากมารดาอ่อนเพลียหลังคลอดน้อยจะเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

          การที่มารดาเหนื่อยหรืออ่อนเพลียหลังคลอดเป็นผลมาจากแนวทางการดูแลมารดาในระยะคลอด วิธีการคลอด และระยะเวลาของการคลอด โดยหากแนวทางการดูแลการคลอดมีการงดน้ำงดอาหารตั้งแต่ในระยะแรกของการคลอด มารดามีการเจ็บครรภ์คลอดนาน มีหัตถการในการช่วยคลอด มารดาเหล่านี้จะเกิดความเหนื่อยล้า อ่อนเพลียหลังคลอดมาก การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเริ่มได้ช้า ซึ่งจะตรงกันข้ามกับมารดาที่ในระยะแรกของการคลอดมารดาได้รับประทานอาหาร มีการคลอดปกติ คลอดง่าย ใช้เวลาไม่นานในการคลอด ทำให้งดอาหารและน้ำไม่นาน มารดาเหล่านี้จะมีอาการอ่อนเพลียน้อยกว่า และเริ่มการให้นมลูกได้เร็ว1 อย่างไรก็ตาม ในมารดาที่เหนื่อยล้าและอ่อนเพลียหลังคลอดไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่2 ดังนั้น แม้ว่ามารดาที่เหนื่อยล้าและอ่อนเพลียจะเริ่มการให้นมลูกได้ช้า แต่หากมารดามีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะสูงขึ้น

 เอกสารอ้างอิง

  1. Senol DK, Yurdakul M, Ozkan SA. The effect of maternal fatigue on breastfeeding. Niger J Clin Pract 2019;22:1662-8.
  2. Fata S, Atan SU. The relationship between fatigue and breastfeeding self-efficacy. Niger J Clin Pract 2018;21:1408-14.