รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การปฏิเสธเต้านมเป็นสิ่งที่พบเจอได้ในระหว่างที่มารดาให้นมลูก การปฏิเสธเต้านมของลูกไม่ได้พบในทารกทุกคน และการปฏิเสธเต้านมของลูกนั้นไม่ได้หมายความว่าลูกพร้อมที่จะหย่านม แต่สาเหตุของการปฏิเสธเต้านมของลูกเกิดได้ในหลายกรณี ซึ่งมารดาควรรับทราบเพื่อจะได้ให้การดูแลลูกได้อย่างเหมาะสมหากมีการปฏิเสธเต้านม สาเหตุของการปฏิเสธเต้านมที่พบได้บ่อย ได้แก่
- การที่ทารกเจ็บในช่องปาก อาจจะเกิดจากการที่ฟันจะขึ้น หรือมีการติดเชื้อราในช่องปาก หรือจากการเป็นหวัด
- การที่ทารกมีการอักเสบติดเชื้อในหู ซึ่งจะทำให้ทารกเกิดอาการปวดขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันในช่องหูในช่วงที่ทารกดูดนม
- การเจ็บของทารกจากการอุ้มทารกในท่าบางท่า บางครั้งทารกอาจเจ็บหัวไหล่จากการปลูกฝีหรือฉีดวัคซีน ท่าอุ้มบางท่าที่กดบริเวณที่ฉีดวัคซีนทำให้ทารกเจ็บ การปรับเปลี่ยนท่าจะช่วยให้ทารกสงบและกลับมากินนมได้
- การเป็นหวัด หรือมีอาการคัดจมูก ทำให้ทารกหงุดหงิดหรืออึดอัดขณะที่ทารกดูดนม
- การที่มารดามีน้ำนมลดน้อยลง จากการที่ให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจากขวดนมและจุกนม ทำให้ลูกติดความสบายจากการดูดจุกนม เกิดการสับสนระหว่างการดูดจุกนมกับการดูดนมจากเต้า ซึ่งส่งผลทำให้ทารกปฏิเสธเต้านม
- การที่มีสิ่งที่รบกวนความสนใจในระหว่างการกินนมของทารก เช่น เสียงที่ดัง หรือแสงที่สว่างจ้าจนเกินไป หรือสิ่งเร้าอื่น ๆ ที่ดึงดูดความสนใจของทารก
- การที่มารดาแยกทารกออกจากเต้าขณะที่ทารกกำลังดูดนมบ่อย ๆ หรือซ้ำ ๆ ซึ่งส่งผลทำให้ทารกเกิดปฏิกิริยาที่ตอบสนองต่อความเครียด โดยการปฏิเสธเต้านม
- การตอบสนองต่อปฏิกิริยาของมารดาเมื่อทารกกัดหัวนม ซึ่งหากมารดามีปฏิกิริยาตอบสนองต่อทารกที่เป็นความโกรธ หรือพูดจาก้าวร้าว สิ่งเหล่านี้จะทำให้ทารกเกิดการต่อต้านโดยการปฏิเสธเต้านมได้
- การที่มารดาแยกจากทารกนาน ทารกเกิดความรู้สึกเหินห่าง ไม่คุ้นเคย
- การที่ทารกรู้สึกไม่พอใจหรือเศร้าสร้อย จากการที่มีการทะเลาะกันของคนในบ้านหรือผู้ใกล้ชิดที่เกิดเสียงดังจนส่งผลต่อความรู้สึกและการรับรู้ของทารก ทารกอาจแสดงปฏิกิริยาต่อต้านโดยการปฏิเสธเต้านมได้
เอกสารอ้างอิง
- The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017