รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในระยะหลังคลอด มารดาจะมีการเปลี่ยนแปลงของทางร่างกายและระดับฮอร์โมน ซึ่งมีผลต่อจิตใจและภาวะเครียดที่ต้องการการปรับตัวรับการทำหน้าที่แม่ที่ต้องให้นมลูก และยังมีหน้าที่ภรรยาที่ต้องดูแลและจัดการงานในบ้าน ภาวะเครียดที่เกิดขึ้นนั้นจะมีผลลบต่อความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และส่งผลเสียต่อความต่อเนื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาพบว่า หากมีการดูแลและจัดการลดภาวะเครียดของมารดาที่ให้นมลูก จะช่วยเรื่องความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา และช่วยให้มารดามีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องได้ดีขึ้น1 ดังนั้น นอกจากการที่บุคลากรทางการแพทย์จะดูแลปัญหาทางด้านร่างกายของมารดาในช่วงที่ให้นมลูกแล้ว ยังต้องใส่ใจในการดูแลใส่ใจปัญหาทางด้านจิตใจและสังคมที่ส่งผลต่อภาวะเครียดของมารดา ซึ่งก็คือควรให้การดูแลแบบองค์รวม (holistic approach) นั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
1. Azizi E, Maleki A, Mazloomzadeh S, Pirzeh R. Effect of Stress Management Counseling on Self-Efficacy and Continuity of Exclusive Breastfeeding. Breastfeed Med 2020;15:501-8.