รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ทารกที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวานเมื่ออายุมากขึ้น จะมีความเสี่ยงที่มีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไตเพิ่มขึ้น โดยพบว่าทารกที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวาน จะมีความเสี่ยงที่จะคลอดทารกแรกเกิดตัวโต การที่ทารกแรกเกิดตัวโตมากกว่า 4000 กรัมจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีโรคอ้วน 2 เท่า และความเสี่ยงจะเพิ่มเป็น 2.5 เท่าหากทารกมีน้ำหนักแรกเกิดที่เปอร์เซ็นไทล์ (percentile) 90 เมื่อเปรียบเทียบดัชนีมวลกายของทารกที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวานที่อายุ 18 ปี พบว่ามีค่าดัชนีมวลกายมากกว่าทารกที่มารดาไม่มีโรคเบาหวาน 0.94 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และพบความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้น 6 เท่าในทารกที่มีมารดาเป็นโรคเบาหวาน โดยการเพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานในทารกอธิบายจากพันธุกรรมและการที่ทารกมีการคลอดก่อนกำหนดจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นด้วย1
สำหรับความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไต มีคำอธิบายจากภาวะแวดล้อมในครรภ์ของมารดาที่มีน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์ผนังหลอดเลือดของทารก2 มีความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น มีการเกิด oxidative stress3 ซึ่งจะมีผลทำให้ความยาวของเทโลเมียร์ (telomere) สั้นลง เทโลเมียร์คือ ส่วนของสายดีเอ็นเอที่อยู่บริเวณปลายของโครโมโซมทั้งสองข้าง โดยหน้าที่ที่สำคัญของเทโลเมียร์คือป้องกันดีเอ็นเอจากการถูกทำลาย และการพันกันของสายดีเอ็นเอ เมื่อเทโลเมียร์สั้นลง จะมีความสัมพันธ์กับการเสื่อมของเซลล์ ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด1
เอกสารอ้างอิง
- Mitanchez D, Yzydorczyk C, Siddeek B, Boubred F, Benahmed M, Simeoni U. The offspring of the diabetic mother–short- and long-term implications. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2015;29:256-69.
- Ingram DA, Lien IZ, Mead LE, et al. In vitro hyperglycemia or a diabetic intrauterine environment reduces neonatal endothelial colony-forming cell numbers and function. Diabetes 2008;57:724-31.
- Abe J, Berk BC. Reactive oxygen species as mediators of signal transduction in cardiovascular disease. Trends Cardiovasc Med 1998;8:59-64.