ปัจจัยขัดขวางการเริ่มต้นให้นมแม่

ผศ.ดร.พญ.ภัทรวลัย ตลึงจิตร

? ? ? ? ? ? ? ?จากการรวบรวมและวิเคราะห์ผลการศึกษาอย่างเป็นระบบในหลากหลายภูมิภาคของโลกพบว่ามีปัจจัยมากมายที่มีผลต่อการเริ่มต้นให้นมแม่ ซึ่งมีทั้งปัจจัยที่พบร่วมกัน และปัจจัยที่เฉพาะเจาะจงต่อภูมิภาคหรือวัฒนธรรมประจำถิ่น โดยสามารถแบ่งออกได้ ดังต่อไปนี้

ปัจจัยด้านภูมิประเทศ (Geographic factors)

? ? ? ? ? ? ? ความเป็นชุมชนเมืองหรือพื้นที่ชนบทมีผลต่อการเริ่มต้นให้นมแม่ที่แตกต่างกันไป? จากการเข้าถึงบริการทางการแพทย์สำหรับแม่และเด็กแตกต่างกัน

ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ (Socioeconomic factors)

  • ระดับความรู้และการศึกษาของคนในสังคมเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะความรู้ถึงประโยชน์ของการให้นมแม่ และความเสี่ยงของทารกที่ไม่ได้รับนมแม่ เช่น การเจ็บป่วยบ่อย
  • การศึกษา อาชีพและเศรษฐานะของแม่ในเอเชียใต้ก็มีผลต่อการเริ่มให้นมแม่ แม่และพ่อที่มีการศึกษาต่ำสัมพันธ์กับการเริ่มต้นให้นมแม่ช้า ในขณะที่สถานการณ์ทำงานของแม่และเศรษฐานะมีผลแย้งกันในแต่ละประเทศ นอกจากนี้วัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนความไม่เท่าเทียมทางเพศยังมีส่วนสำคัญมากต่อการเริ่มต้นให้นมแม่
  • บทบาทของพ่อ มีความสำคัญต่อการเริ่มต้นให้นมแม่ โดยการให้ความรู้เรื่องนมแม่แก่พ่อจะช่วยเพิ่มอัตราการให้นมแม่ถึงร้อยละ 20 และหากสอนให้พ่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนการให้นมแม่ อัตราการการเริ่มต้นนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอดและให้นมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรกจะสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการสอน
  • การกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก การให้นมด้วยขวดกลายเป็นสิ่งปกติ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบริษัทขายนมผงดัดแปลงสำหรับทารกซึ่งแผ่อิทธิพลไปทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลกต้องออกหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (International Code of Marketing of Breast- milk Substitutes) โดยการกินนมผงได้สร้างความเชื่อผิด ๆ ที่ว่าเด็กอ้วนหรือตัวโตคือเด็กแข็งแรง ทำให้แม่และคนรอบข้างส่งเสริมให้เด็กกินนมผงแทนนมแม่ เนื่องจากการกินนมผงจะทำให้เด็กมีโอกาสอ้วนมากกว่า
  • รายได้ของประเทศ ในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางพบอัตราการเริ่มให้นมแม่ค่อนข้างสูง ส่วนในประเทศรายได้สูงการเริ่มต้นให้นมแม่มีความแตกต่างหลากหลายและพบมากในแม่ที่มีการศึกษาและฐานะดี

ปัจจัยส่วนบุคคล (Individual factors)

คุณลักษณะของทารก ได้แก่ ลำดับการเกิด เพศ มีผลต่อการเริ่มต้นนมแม่ โดยลูกคนแรกและลูกลำดับที่ห้าเป็นต้นไปมักได้รับนมแม่ช้า นอกจากนี้ทารกเพศชายซึ่งมักจะมีการจัดพิธีเฉลิมฉลองหลังคลอดตามความเชื่อ และทารกที่มีแม่อยู่ในวัยรุ่นมักได้รับนมแม่ล่าช้าเช่นเดียวกัน

ปัจจัยด้านสุขภาพ (Health related factors)

สุขภาพแม่หลังคลอดและทารกมีผลโดยตรงต่อการเริ่มให้นมแม่ แม่ที่ได้รับการผ่าตัดคลอดบุตรหรือไม่รู้สึกตัว อ่อนเพลีย มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูง ตกเลือดหลังคลอด มีข้อจำกัดในการเริ่มต้นให้นมแม่ เช่นเดียวกับทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอดน้อย คลอดก่อนกำหนด มีความพิการ หรือขาดออกซิเจน เนื่องจากแม่และทารกดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาตามภาวะแทรกซ้อน

แนวทางในการแก้ปัญหา

  • การให้ข้อมูลความรู้และการช่วยเหลือสนับสนุนแก่แม่หลังคลอด เรื่องการให้นมแม่โดยแพทย์ พยาบาล หรือบุคคลากรนอกวงการสาธารณสุขที่ได้รับการฝึกฝนและมีประสบการณ์เรื่องนมแม่ช่วยเพิ่มอัตราการให้นมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงหลัง
  • การคลอดในสถานพยาบาลที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการได้รับการสนับสนุนเรื่องการให้นมแม่จากบุคลากรทางการแพทย์เป็นปัจจัยสำคัญในการเริ่มต้นการให้นมแม่ของแม่หลังคลอด

? ? ? ? ? ? อย่างไรก็ตาม การขาดกำลังคนของผู้ให้บริการ การที่ผู้ให้บริการต้องทำหลายหน้าที่ในเวลาเดียวกันยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งเสริมการเริ่มต้นนมแม่? นอกจากนี้การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมของผู้ให้บริการทางการแพทย์ยังเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มนมแม่ เช่น การแยกแม่ลูกหลังคลอด การแจกตัวอย่างนมผงหรืออาหารเสริมแก่แม่หลังคลอด การผ่าคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ ?ในแต่ละสถานบริการจึงควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการจัดการปัจจัยเหล่านี้

  • การให้ข้อมูลผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ (multimedia) การใช้สื่อที่เหมาะสม รวมทั้ง social media ในการให้ความรู้และรณรงค์เรื่องการให้นมแม่ พบว่ามีส่วนในการสนับสนุนการให้นมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด อย่างไรก็ตามในประเทศที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เช่น ประเทศยากจนหรือแม่ที่มีฐานะยากจนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลจากวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ มาตรการเรื่องนมแม่ในระดับชุมชนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการจัดการปัญหานี้

เอกสารอ้างอิง

1. Khan J, Vesel L, Bahl R, Martines JC. Timing of breastfeeding initiation and exclusivity of breastfeeding during the first month of life: effects on neonatal mortality and morbidity?a systematic review and meta-analysis. Matern Child Nutr. 2015; 19:3.

2. Oakley L, Benova L, Macleod D, Lynch CA, Campbell OMR. Early breastfeeding practices: descriptive analysis of recent Demographic and Health Surveys. Matern Child Nutr. 2017 Oct 16. [Epub ahead of print]

3. Sharma IK, Byrne A. Early initiation of breastfeeding: a systematic literature review of factors and barriers in South Asia. Int Breastfeed J. 2016 Jun 18;11:17.

4. The Surgeon General’s Call to Action to Support Breastfeeding. Editors Office of the Surgeon General (US); Centers for Disease Control and Prevention (US); Office on Women’s Health (US). Source Rockville (MD): Office of the Surgeon General (US); 2011.

5. Balogun OO, O?Sullivan EJ, McFadden A, Ota E, Gavine A, Garner CD, Renfrew MJ, MacGillivray S. Interventions for promoting the initiation of breastfeeding. Cochrane Database of Systematic Reviews 2016, Issue 11. Art. No.: CD001688. DOI: 10.1002/14651858.CD001688.pub3.

6. Majra JP, Silan VK. Barriers to early initiation and continuation of breastfeeding in a tertiary care institute of Haryana: a qualitative study in nursing care providers. J Clin Diagn Res. 2016 Sep; 10(9): LC16?LC20. Published online 2016 Sep 1.

7. Tawiah-Agyemang C, Kirkwood BR, Edmond K, Bazzano A, Hill Z. Early initiation of breast-feeding in Ghana: barriers and facilitators. J Perinatol. 2008 Dec;28 Suppl 2:S46-52.

ที่มาจาก การบรรยายและหนังสือประกอบการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 6 ในวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์