นมแม่กับภาวะเตี้ย (Breastfeeding and Stunting)

ผศ.พญ.อรพร ดำรงวงศ์ศิริ

??????????????????? นมแม่นับเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารและสารชีวภาพซึ่งส่งเสริมให้ทารกที่กินนมแม่มีพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่สมวัย ทารกที่มีสุขภาพดีและได้รับนมแม่จากมารดาที่มีภาวะโภชนาการที่สมบูรณ์จะมีการเจริญเติบโตที่ดีและพัฒนาการที่เหมาะสมกับช่วงอายุ แม้ว่าโดยธรรมชาติ ต่อมน้ำนมจะมีการสร้างให้นมแม่มีสารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์ผ่านกลไกการขนส่งสารอาหารต่าง ๆ จากเลือดของมารดาสู่ต่อมน้ำนม แต่มีสารอาหารในนมแม่หลายชนิดแปรผันตามภาวะโภชนาการและการได้รับอาหารของมารดา ดังนั้น การที่ทารกได้กินนมแม่อย่างเดียว อาจมีปัญหาด้านการเจริญเติบโตได้ หากทารกได้รับนมแม่ไม่เต็มที่ หรือมารดามีปัญหาทุพโภชนาการและการขาดสารอาหาร

? ? ? ? ? ? ? ?ผลจากการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดภาวะเตี้ย (stunting) ในเด็กเล็ก บางการศึกษาพบว่า หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเตี้ยในทารกและเด็กเล็กคือ ระยะเวลาที่ทารกได้กินนมแม่? การศึกษาในประเทศเนปาลและไนจีเรีย พบว่า การที่ทารกได้รับนมแม่ยาวนานมากกว่า 12 เดือน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ทารกมีภาวะเตี้ยประมาณ 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับทารกที่ได้รับนมแม่น้อยกว่า 12 เดือน การศึกษาในประเทศแทนซาเนียพบว่าทารกที่กินนมแม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำหนักน้อยเมื่อเทียบกับทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ แต่ไม่มีความแตกต่างของความยาวของทารก? การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ที่ทำการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยการให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิด (peer counseling) กับพื้นที่ที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศอูกานดา พบว่า ทารกจากพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีภาวะเตี้ยและน้ำหนักน้อยมากกว่าทารกจากพื้นที่ที่ไม่รับการส่งเสริม? แม้ว่าผลการศึกษาต่าง ๆ เหล่านี้ บ่งชี้ว่า การกินนมแม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการในทารกและเด็กเล็ก แต่หากพิจารณาข้อมูลจากการศึกษาเหล่านี้ จะพบว่าเป็นข้อมูลจากการศึกษาในประเทศที่กำลังพัฒนา ในพื้นที่ความยากจน ซึ่งหญิงให้นมบุตรอาจมีภาวะโภชนาการที่ไม่ดี รวมทั้งการกินอาหารของทารกและเด็กเล็กในช่วงหลัง 6 เดือนเป็นที่มีต้นไป อาจไม่มีความเหมาะสม จึงทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการได้ สังเกตว่า ผลการศึกษาในลักษณะนี้ ไม่พบในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในทางตรงกันข้ามกลับพบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจช่วยลดดัชนีมวลกายของทารกและเป็นปัจจัยช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนในเด็กเล็ก นอกจากนั้น อาจยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยกวน เช่น ผู้เลี้ยงดูหลัก (พ่อ แม่ หรือญาติคนอื่น ๆ) สุขภาพของทารก การขาดสารอาหารบางชนิด เป็นต้น การศึกษาในประเทศเปรู พบว่า ระยะเวลาของการให้กินนมแม่มีความสัมพันธ์เชิงลบต่อความยาวของเด็กเล็กเมื่ออายุ 15 เดือน แต่เมื่อมีการวิเคราะห์ทางสถิติอย่างละเอียด กลับพบว่า ทารกที่มีปัญหาสุขภาพและการเจริญเติบโตมักเป็นกลุ่มมารดามีความพยายามให้ทารกได้กินนมแม่มากกว่าที่จะเลือกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก

? ? ? ? ? ? อย่างไรก็ตาม ในทางคลินิก กุมารแพทย์มักได้รับคำปรึกษาเรื่องทารกและเด็กเล็กที่มีภาวะตัวเตี้ยหรือน้ำหนักน้อย โดยส่วนหนึ่งเป็นทารกและเด็กเล็กที่กินนมแม่ยาวนาน เมื่อซักประวัติจะพบว่า ทารกมีการเจริญเติบโตดีในช่วง 6 เดือนแรก หลังจากนั้น มีการลดลงของอัตราการเจริญเติบโตในช่วงอายุ 6-8 เดือนเป็นต้นไป ทารกจะกินนมแม่ได้ดีและบ่อยครั้ง แต่มีประวัติการกินอาหารตามวัยน้อย ไม่เหมาะสม และอาจมีภาวะกินยาก (feeding difficulty) ร่วมด้วย? เนื่องจากในช่วงอายุตั้งแต่ 6 เดือนเป็นต้นไป ทารกจำเป็นต้องได้รับพลังงานจากอาหารตามวัยควบคู่ไปกับนมแม่ และเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป เด็กเล็กจำเป็นต้องได้รับพลังงานและสารอาหารจากอาหารเป็นหลัก ดังนั้น ทารกและเด็กเล็กที่กินนมแม่และมีปัญหาการกินอาหารจึงไม่ได้รับพลังงานเพียงพอในการเจริญเติบโตและเกิดภาวะตัวเตี้ยหรือน้ำหนักน้อยตามมา

? ? ? ? ? ? ? โดยสรุป สาเหตุที่ทำให้ทารกที่กินนมแม่มีภาวะเตี้ย ได้แก่ มารดาที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ มีภาวะทุพโภชนาการ หรือไม่สามารถให้กินนมแม่ได้อย่างเต็มที่ ทารกและเด็กเล็กที่กินนมแม่นานกว่า 6 เดือนเป็นต้นไป แต่ได้รับอาหารตามวัยที่ไม่เหมาะสม ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพของอาหารตามวัย ทารกและเด็กเล็กที่มีปัญหาในการกินอาหาร เช่น ปัญหากินยาก เลือกกิน เป็นต้น ดังนั้น การป้องกันปัญหาภาวะตัวเตี้ยในทารกและเด็กเล็กที่กินนมแม่ ควรให้ความสำคัญต่อการดูแลภาวะโภชนาการและการได้รับอาหารของมารดาที่ให้นมบุตร รวมทั้งการให้อาหารตามวัยแก่ทารกและเด็กเล็กที่เหมาะสม

ที่มาจาก การบรรยายและหนังสือประกอบการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 6 ในวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์