ต้องดูแลเรื่องอาหารอย่างไร ระหว่างให้นมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? การรับประทานอาหารของมารดาในระหว่างการให้นมแม่นั้น มารดาสามารถจะรับประทานอาหารได้ตามปกติเหมือนในช่วงก่อนการตั้งครรภ์ เพียงแต่แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีความหลากหลาย และควรครบห้าหมู่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดมารดาจะผ่านไปสู่น้ำนมได้สูงและอาจเกิดอันตรายกับทารกได้ สำหรับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ได้แก่ ชาหรือกาแฟ ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน เนื่องจากคาเฟอีนจะผ่านน้ำนมไปยังทารกได้ ทำให้ทารกหงุดหงิด งอแง และไม่ยอมนอน สำหรับอาหารที่ส่งเสริมการกระตุ้นน้ำนม โดยทั่วไปไม่จำเป็น1 เนื่องจากปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการสร้างและการไหลของน้ำนมนั้น คือ การให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ และดูดนมให้เกลี้ยงเต้า แต่ในสังคมไทยยังมีการแนะนำให้รับประทานอาหารจำพวกขิงหรือหัวปลี ได้แก่ ไก่ผัดขิง หรือแกงเลียง มีรายงานการศึกษาว่าขิงสามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมของมารดาได้ในช่วงสามวันแรกหลังคลอดโดยที่หลังจากเจ็ดวันหลังคลอดปริมาณน้ำนมของมารดาจะไม่แตกต่างกัน จากข้อมูลเหล่านี้และการรับประทานอาหารจำพวกขิงหรือหัวปลีก็เป็นอาหารที่มีคุณค่าและเป็นอาหารที่คุ้นเคยกันอยู่ในสังคมไทย ซึ่งการรับประทานอาหารประเภทนี้ไม่ได้มีข้อเสียใด ๆ ดังนั้น หากมารดาต้องการรับประทานก็สามารถรับประทานได้ สำหรับการเสริมวิตามินหรือแร่ธาตุใด ๆ ให้มารดาในช่วงให้นมบุตรนั้น ส่วนใหญ่แนะนำให้มารดารับประทานธาตุเหล็กและแคลเซียม เนื่องจากแคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการน้ำนมและธาตุเหล็กมักพบน้อยในน้ำนม มารดาจึงควรรับประทานธาตุเหล็กและแคลเซียมตลอดในช่วงระหว่างการให้นมลูก นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังมีการแนะนำให้มารดารับประทานวิตามินดีและดีเอชเอ เนื่องจากอาหารของมารดาในสหรัฐอเมริกาจะมีดีเอชเอต่ำและมารดามักพบการขาดวิตามินดีซึ่งอาจส่งผลเสียแก่ทารกได้ แต่ในประเทศไทยข้อมูลการขาดสารอาหารในมารดายังมีน้อยและยังพบมีการขาดแร่ธาตุหรือสารอาหารแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ จึงต้องอาศัยข้อมูลในแต่ละพื้นที่ที่ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อตอบคำถามหรือให้คำแนะนำแก่มารดาในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม?

อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำให้เพียงพอระหว่างการให้นมบุตรก็มีความจำเป็น โดยดื่มเมื่อรู้สึกกระหายน้ำ หรือมีปัสสาวะสีเข้ม หรือแนะนำให้มารดาดื่มน้ำหนึ่งแก้วหลังให้นมบุตร

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017