จะรู้ได้อย่างไรว่า มารดามีปัญหาเรื่องหัวนม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ปกติแล้ว แนะนำให้สตรีมีการตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกวันในขณะอาบน้ำ ร่วมกับการส่องกระจกดูลักษณะหรือความผิดปกติที่มองเห็นได้ โดยอาจรอยบุ๋มหรือผื่นแดง และตรวจสอบลักษณะของหัวนมว่ามีหัวนมบอด บุ๋ม แบนราบ สั้น หรือใหญ่ไหม ลักษณะของหัวนมเหล่านี้ อาจส่งผลต่อการอมหัวนมและลานนมของทารก ทำให้ทารกเข้าเต้าลำบาก และเป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

  • หัวนมบุ๋มหรือหัวนมบอด จะมีลักษณะของหัวนมที่บุ๋มหรือลึกลงไปจากระดับฐานของหัวนม ซึ่งอาจจะเป็นเองหรือเป็นจากการบาดเจ็บหรือการผ่าตัดในอดีตที่ทำให้เกิดพังผืดยึดรั้งให้หัวนมมีระดับต่ำบุ๋มลงไป
  • หัวนมแบน จะมีลักษณะของหัวนมที่ราบไปกับระดับฐานของหัวนมหรือลานนม
  • หัวนมสั้น การมองหรือการสังเกตด้วยตาอาจมีความลำบาก หากใช้เครื่องมือวัดจะพบว่าความยาวของหัวนมสั้นกว่า 7 มิลลิเมตรในระยะหลังคลอด แต่มารดาสามารถตรวจสอบหัวนมสั้นด้วยตนเองโดยใช้วิธีง่ายๆ คือ การใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กระตุ้นหัวนมให้ยืดยาวขึ้นมา โดยการกดหรือเลื่อนนิ้วมือไปในแนวของเต้านมด้านหลัง จากนั้นใช้นิ้วทั้งสองจับหัวนมดู หากสามารถจำหัวนมได้ติด น่าจะแสดงว่า หัวนมของมารดาไม่สั้น
  • หัวนมใหญ่ หัวนมมารดาทั่วไปขนาดราว 1 เซนติเมตร เช่นเดียวกันการมองดูหัวนมแล้วจะบอกว่า หัวนมใหญ่นั้น บอกได้ยาก แต่หากหัวนมมารดาใหญ่เกิน 2 เซนติเมตรก็มีโอกาสที่จะรบกวนการเข้าเต้าของทารกขณะดูดนมได้

? ? ? ? ? ? ? ?อย่างไรก็ตาม การส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของปัญหาของหัวนมที่พบนั้น จะส่งผลก็ต่อเมื่อปัญหานั้นส่งผลต่อการอมหัวนมและลานนมของทารก เนื่องจากขณะที่ทารกกินนมแม่นั้น หัวนมไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่เป็นตัวตัดสินความสำเร็จในการเข้าเต้า ดังนั้น แม้ว่าการตรวจลักษณะของหัวนมและเต้านมเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมของมารดาในการให้นมบุตร แต่มารดาไม่ควรสร้างความวิตกกังวลให้กับตนเองมากเกินไปจากการที่มีลักษณะของหัวนมที่บอด บุ๋ม แบนราบ หรือใหญ่ จนเลือกที่จะไม่ให้นมแม่ หรือ เครียดจนกระทั่งน้ำนมแม่ไม่ไหลหรือมาช้า ซึ่งยังมีวิธีที่จะช่วยหรือให้คำปรึกษาในกรณีที่มารดามีหัวนมเป็นลักษณะเหล่านี้

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017