การใช้สัปดาห์นมแม่โลกในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรเรื่องนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมเป็นสัปดาห์นมแม่โลกเพื่อรณรงค์เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในปัจจุบัน อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 41 โดยอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนในประเทศไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์กรยูนิเซฟปี พ.ศ. 2558-2559 อยู่ที่ร้อยละ 23 แม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันดีว่า การที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การดำเนินการตามแนวทางบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกมีความสำคัญ แต่ในสถานพยาบาลหลาย ๆ แห่งในประเทศไทย สิ่งนี้กลับเป็นสิ่งที่ขาดการปฏิบัติหรือปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วนหรือขาดการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนซึมซับเป็นวัฒนธรรมองค์กร การใช้กลไกสัปดาห์นมแม่โลกที่อยู่ใกล้กับช่วงวันแม่แห่งชาติมาใช้กระตุ้นเตือน เพื่อใช้ปรับปรุงระบบการจัดการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาล ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรนมแม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยจัดให้มีการนำเสนอข้อมูลตัวชี้วัดต่าง ๆ ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่บุคลากรและประชาชนทั่วไป จัดให้มีการมอบประกาศนียบัตรชื่นชมบุคลากรหรือหน่วยงานที่มีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดี การเปิดโอกาสให้มีการเสนอแนวทางในการพัฒนาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เสนอปัญหาหรือเสนอคำถามวิจัยที่จะใช้แก้ปัญหาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลที่เอื้อต่อการศึกษาวิจัยความรู้ใหม่ หรือเพื่อรับทราบและแก้ปัญหาโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ เมื่อมีการจัดให้มีการทบทวนระบบการพัฒนาตนเองเช่นนี้ทุกปีในช่วงสัปดาห์นมแม่โลกหรือในช่วงวันแม่แห่งชาติ วัฒนธรรมองค์กรในเรื่องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะเกิดขึ้นโดยที่จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืน1

เอกสารอ้างอิง

1.        Spatz DL. Using World Breastfeeding Week to Transform Institutional Culture. MCN Am J Matern Child Nurs 2020;45:126.