รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? ความเชื่อในการกินยาขับน้ำคาวปลาหลังคลอดบุตรยังพบอยู่มากในประเทศไทย จากการสำรวจโดยการเยี่ยมบ้านของมารดาที่คลอดบุตรที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พบมีการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตรในหนึ่งเดือนแรกหลังคลอดร้อยละ 31.4 โดยที่ยาที่พบว่ามีการใช้มากที่สุด คือ ยาสตรีที่รับประทานเพื่อขับน้ำคาวปลาโดยพบร้อยละ 25 ของสตรีหลังคลอดทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 80 ของยาที่มารดาใช้ในขณะหลังคลอดในเดือนแรก ยาสตรีที่ใช้ขับน้ำคาวปลามีส่วนประกอบของสมุนไพรหลายชนิด บางชนิดออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศสตรี บางชนิดออกฤทธิ์กระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก โดยมีแอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลายสารออกฤทธิ์ของสมุนไพร
? ? ? ? ? ? ? ? การใช้หรือรับประทานแอลกอฮอล์ในระหว่างให้นมบุตร แอลกอฮอล์จะเพิ่มระดับในน้ำนมได้อย่างรวดเร็วหลังการรับประทานของมารดา โดยที่ระดับแอลกอฮอล์ในน้ำนมจะใกล้เคียงกับในกระแสเลือดของมารดา ผลเสียของแอลกอฮอล์ต่อการให้นมบุตร จะทำให้การตอบสนองของฮอร์โมนออกซิโตซินต่อการดูดนมของทารกลดลง1 และพบว่าอาจทำให้ปริมาณน้ำนมลดลงด้วย2 นอกจากนี้ หากทารกได้รับแอลกอฮอล์จะทำให้ทารกง่วงหลับ ปลุกไม่ค่อยตื่น ไม่สนใจจะกินนม ทำให้น้ำหนักขึ้นน้อย มีผลคะแนนการประเมินความฉลาดของการพูดน้อยลง3 สำหรับความจำเป็นในการรับประทานยาสตรีเพื่อช่วยขับน้ำคาวปลานั้น ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากในขณะหลังคลอด แพทย์จะฉีดยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกให้กับมารดาทุกรายอยู่แล้ว และการที่มารดาให้นมลูกจะช่วยให้มดลูกหดรัดตัวดีขึ้นและเข้าอู่ได้ตามปกติ เมื่อพิจารณาดูแล้ว จึงไม่มีความคุ้มค่าที่จะเสี่ยงในการกินยาสตรีที่ช่วยในการขับน้ำคาวปลาที่มีผลกระทบต่อนมแม่และสุขภาพทารก
เอกสารอ้างอิง
- Coiro V, Alboni A, Gramellini D, et al. Inhibition by ethanol of the oxytocin response to breast stimulation in normal women and the role of endogenous opioids. Acta Endocrinol (Copenh) 1992;126:213-6.
- Giglia RC, Binns CW, Alfonso HS, Scott JA, Oddy WH. The effect of alcohol intake on breastfeeding duration in Australian women. Acta Paediatr 2008;97:624-9.
- May PA, Hasken JM, Blankenship J, et al. Breastfeeding and maternal alcohol use: Prevalence and effects on child outcomes and fetal alcohol spectrum disorders. Reprod Toxicol 2016;63:13-21.