รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การดูแลการเปลี่ยนแปลงของมารดาในระยะการคลอดว่าปกติดีหรือไม่ มักจะเทียบการเปลี่ยนแปลงของมารดากับกราฟการคลอด โดยกราฟการคลอดที่นิยมใช้ ได้แก่ กราฟการคลอดขององค์การอนามัยโลก (WHO partograph) ซึ่งจะให้เวลาในการดูแลระยะที่ปากมดลูกเปิดช้า (latent phase) 8 ชั่วโมง และให้เวลาการดูแลระยะรอคลอดที่ปากมดลูกเปิดเร็ว (active phase) 7 ชั่วโมง โดยในช่วงที่ปากมดลูกเปิดเร็วนั้น การเปลี่ยนแปลงของการขยายของปากมดลูกไม่ควรน้อยกว่า 1 เซนติเมตรต่อชั่วโมง ในกราฟการคลอดจะเส้นที่เตือนสำหรับบุคลากรผู้ดูแลการคลอด 2 เส้น คือ เส้นเตือนให้ระมัดระวัง (alert line) และเส้นเตือนให้ตัดสินใจดำเนินการ (action line)
หากระหว่างการดูแลการคลอด เมื่อลากเส้นเชื่อมเส้นกราฟการคลอดของมารดา เส้นกราฟไปตัดกับเส้นเตือนให้ระมัดระวัง (alert line) บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นพิจารณาว่า การคลอดของมารดารายนั้นจะเป็นการคลอดยากหรือไม่ หากมีโอกาสที่จะผ่าตัดคลอดสูง และสถานพยาบาลที่ทำการดูแลขาดความพร้อมในการทำการผ่าตัดคลอด ควรเลือกที่จะส่งต่อมารดาไปโรงพยาบาลที่มีความพร้อมที่ดูแลการผ่าตัดคลอดได้ ดังนั้น “เส้นเตือนให้ระมัดระวัง (alert line) จึงเหมือนเส้นเตือนตัวเองว่า สถานพยาบาลมีความพร้อมหรือไม่ที่จะดูแลมารดาระยะคลอดที่มีความเสี่ยงสูงนั่นเอง”
สำหรับในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมที่จะดูแลมารดาระยะคลอดที่มีความเสี่ยงสูง หากเส้นกราฟการคลอดของมารดาไปตัดเส้นเตือนให้ระมัดระวัง (alert line) ในกรณีนี้ไม่ได้มีความหมายว่าให้ส่งต่อ แต่มีความหมายเตือนว่า การคลอดของมารดารายนั้นจะมีความเสี่ยง จำเป็นต้องเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด และควรแก้ไขปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดการคลอดที่ช้า ซึ่งหากเส้นกราฟการคลอดของมารดายังคงมีการเปลี่ยนแปลงช้าจนเส้นกราฟของมารดาไปตัดเส้นเตือนให้ตัดสินใจดำเนินการ (action line) แล้ว บุคลากรทางการแพทย์ต้องระลึกไว้เสมอว่า การผ่าตัดคลอดอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับมารดา เนื่องจาก เมื่อการคลอดของมารดาช้าจนเส้นกราฟการคลอดของมารดาไปตัดเส้นเตือนให้ระมัดระวัง (alert line) บุคลากรทางการแพทย์ได้พิจารณาปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการคลอดที่ช้า แล้วได้ดำเนินการแก้ไขปัจจัยที่เป็นสาเหตุ แต่ผลลัพธ์ของการแก้ไขไม่ดีขึ้น ดังนั้น “เส้นเตือนให้ตัดสินใจดำเนินการ (action line) จึงเสมือนเส้นเตือนให้ตัดสินใจดำเนินการผ่าตัดคลอด ซึ่งการพิจารณาการผ่าตัดอาจเป็นทางเลือกของการคลอดที่เหมาะสมในมารดารายนั้น เพื่อเป็นการปกป้องและป้องกันอันตรายต่อมารดาและทารกจากการคลอดที่เนิ่นนานนั่นเอง”