การแก้ไขหัวนมบอดเพื่อช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                หัวนมบอดเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่อาจทำให้การเข้าเต้าของทารกมีความยากลำบาก ทารกอ้าปากอมหัวนมได้ไม่ดี ทำให้การดูดนมของทารกเกิดขึ้นอย่างไม่เหมาะสม ทารกหงุดหงิด ร้องไห้ และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มารดาหยุดให้นมลูกก่อนเวลาอันควร การแก้ไขปัญหาหัวนมบอดนั้น มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะหัวนมบอดและระยะเวลาที่พบว่ามารดามีหัวนมบอด โดยทั่วไปแนะนำให้มารดาที่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์รีบมาฝากครรภ์ทันที ในระหว่างการฝากครรภ์จะมีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ซึ่งรวมทั้งการตรวจเต้านม หากพบว่า มารดามีหัวนมบอด การแก้ไขด้วยเวลาการใช้นิ้วดึงหัวนมด้วยวิธีของ Hoffman โดยทำการดึงหัวนมขึ้นวันละสองครั้งในระหว่างการอาบน้ำ อาจใช้ nipple puller หรือใช้ syringe nipple puller ก็เป็นวิธีที่ใช้ในการช่วยให้หัวนมบอดดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขหัวนมบอดที่ใช้นิ้วมือช่วยดึงหัวนมหรือใช้ที่ดึงหัวนมมักจะได้ผลในหัวนมบอดที่มีความรุนแรงระดับ 1 หรือระดับ 2 ซึ่งความรุนแรงของหัวนมบอดมักแบ่งระดับเป็น 3 ระดับ โดยหัวนมบอดที่มีความรุนแรงระดับที่ 1 เมื่อใช้นิ้วมือกระตุ้นหัวนมและดึงขึ้นแล้ว หัวนมจะตั้งขึ้นมาได้ในระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงยุบกลับไปในตำแหน่งเดิม หัวนมบอดที่มีความรุนแรงระดับที่ 2 หัวนมจะตั้งขึ้น เมื่อใช้นิ้วมือกระตุ้นหัวนมและดึงขึ้น แต่หัวนมจะยุบกลับตำแหน่งเดิมทันทีหยุดการกระตุ้น และหัวนมบอดระดับที่ 3 หัวนมจะไม่ตั้งขึ้นเลยหลังจากการกระตุ้นหัวนมหรือใช้นิ้วมือพยายามจะดึงขึ้น นอกจากนี้ ในหัวนมบอดที่มีความรุนแรงในระดับที่ 1 และ 2 ยังมีรายงานว่าการผ่าตัดแบบแผลเล็กและเข้าไปตัดพังผืดที่ยึดหัวนมไว้ (Modified inverted nipple correction) ก็ได้ผลดีในการที่มารดาจะให้นมลูกและไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง1 ดังนั้น สำหรับหัวนมบอดที่มีความรุนแรงระดับที่ 3 การทำความผ่าตัดต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากการผ่าตัดที่อาจจะไปตัดหรือทำลายท่อน้ำนม ทางเลือกของการรักษาอาจใช้ nipple shield ช่วยให้ทารกเข้าเต้าได้ดีขึ้นหรือจะเลือกที่จะใช้การบีบนมและป้อนนมด้วยถ้วยก่อน จนกระทั่งทารกโตขึ้น เข้าเต้าได้ดีขึ้น เนื่องจากการอ้าปากอมลานนมได้ลึกขึ้น ซึ่งวิธีทางเลือกเหล่านี้ยังใช้ในมารดาที่พบหัวนมบอดในขณะหลังคลอดแล้วหรือมารดาที่ไม่ได้รับการแนะนำการช่วยแก้ไขหัวนมบอดตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ จะเห็นว่า ทางเลือกในการดูแลรักษาหัวนมบอดเพื่อช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีหลายวิธี ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรทำความเข้าใจเพื่อสามารถจะให้คำแนะนำให้แก่มารดาและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Feng R, Li W, Yu B, Zhou Y. A Modified Inverted Nipple Correction Technique That Preserves Breastfeeding. Aesthet Surg J 2019;39:NP165-NP75.