การเสริมวิตามินดีในสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร

IMG_9483

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? วิตามินดี เป็นสารตั้งต้นของฮอร์โมน ซึ่งนอกจากได้รับผ่านการรับประทานอาหารแล้ว ร่างกายยังสามารถสร้างได้เมื่อได้รับอุลตร้าไวโอเลต B จากแสงแดด อาหารที่มีวิตามินดี ได้แก่ ไขมันปลา เครื่องในสัตว์ ตับ และเห็ด วิตามินดีมีประโยชน์ในเรื่องความแข็งแรงของกระดูก เมตาบอริซึมของแคลเซียม และยังช่วยในเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน1-3 ป้องกันเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกอ่อน (ricket) และมะเร็งหลายชนิด4 และในสตรีตั้งครรภ์ที่มีระดับวิตามินดีต่ำสัมพันธ์กับการผ่าตัดคลอดสูงขึ้น5 มีการศึกษาในต่างประเทศพบว่ามีความชุกของการขาดวิตามินดีในสตรีตั้งครรภ์ร้อยละ 17-62 และการขาดวิตามินดีในทารกแรกเกิดร้อยละ 6-62 โดยขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ฤดูกาล อาหาร การเสริมวิตามินดี และการได้รับแสงแดด6 สำหรับในประเทศไทย ลักษณะการทำงานในอาคาร ค่านิยมการหลีกเลี่ยงแสงแดดเพิ่มมากขึ้น ความชุกของการขาดวิตามินดีก็น่าจะเพิ่มขึ้นคล้ายคลึงกัน โดยมีการศึกษาพบว่า ความชุกของการขาดวิตามินดีในหญิงตั้งครรภ์ไทยในไตรมาสแรกสูงถึงร้อยละ 83.37 สำหรับในมารดาที่ให้นมบุตร ปริมาณวิตามินดีในมารดามีความสัมพันธ์กับปริมาณวิตามินดีในน้ำนม จึงมีข้อแนะนำให้เสริมวิตามินดีขนาด 400-600 IU ต่อวันในระยะตั้งครรภ์และให้นมบุตร8 สำหรับในทารก สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ทารกทุกคนหลังคลอดได้รับการเสริมวิตามินดีขนาด 400 IU ต่อวัน9 อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาบำรุงครรภ์ชนิดรวมโดยทั่วไปมักจะมีวิตามินดีขนาดที่เพียงพออยู่แล้ว โดยเสริมให้วันละหนึ่งเม็ดสำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

เอกสารอ้างอิง

  1. Walker VP, Zhang X, Rastegar I, et al. Cord blood vitamin D status impacts innate immune responses. J Clin Endocrinol Metab 2011;96:1835-43.
  2. Liu PT, Stenger S, Li H, et al. Toll-like receptor triggering of a vitamin D-mediated human antimicrobial response. Science 2006;311:1770-3.
  3. Hewison M. Vitamin D and the immune system: new perspectives on an old theme. Endocrinol Metab Clin North Am 2010;39:365-79, table of contents.
  4. Holick MF. Vitamin D deficiency. N Engl J Med 2007;357:266-81.
  5. Merewood A, Mehta SD, Chen TC, Bauchner H, Holick MF. Association between vitamin D deficiency and primary cesarean section. J Clin Endocrinol Metab 2009;94:940-5.
  6. Dawodu A, Davidson B, Woo JG, et al. Sun exposure and vitamin d supplementation in relation to vitamin d status of breastfeeding mothers and infants in the global exploration of human milk study. Nutrients 2015;7:1081-93.
  7. Charatcharoenwitthaya N, Nanthakomon T, Somprasit C, et al. Maternal vitamin D status, its associated factors and the course of pregnancy in Thai women. Clin Endocrinol (Oxf) 2013;78:126-33.
  8. Ross AC, Manson JE, Abrams SA, et al. The 2011 report on dietary reference intakes for calcium and vitamin D from the Institute of Medicine: what clinicians need to know. J Clin Endocrinol Metab 2011;96:53-8.
  9. Wagner CL, Greer FR. Prevention of rickets and vitamin D deficiency in infants, children, and adolescents. Pediatrics 2008;122:1142-52.

?

?

?