การรับประทานเกลือ (รสเค็ม) กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

20598_450

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สัปดาห์แรกหลังคลอดเป็นช่วงที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และบ่งบอกถึงโอกาสที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานหากประสบความสำเร็จในการให้นมแม่ ปัจจัยทางสรีรวิทยา จิตใจ สังคมและวัฒนธรรมมีผลต่อการเริ่มนมแม่ ระยะเวลาในการให้นมแม่ และความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว เหตุผลของการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกเกิดจากการเจ็บเต้านมหรือไม่สบายตัวระหว่างให้นมแม่และไม่มั่นใจว่ามีน้ำนมเพียงพอ ในระยะต่อมาสาเหตุของการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือการกลับเข้าทำงานของมารดา

ในช่วงให้นมบุตรมารดาต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น การเพิ่มปริมาณอาหารและการเสริมอาหารบางอย่างจำเป็นในมารดาที่ขาดหรือรับประทานอาหารไม่ครบสัดส่วน เกลือเป็นส่วนที่สำคัญในการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของทารก1 ในการศึกษาในสัตว์การกินเกลือมีความสัมพันธ์กับการสร้างนมแม่และความต้องการเกลือสูงขึ้นขณะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่มีการศึกษาในมารดาหลังคลอดโดยสอบถามความชอบในการรับประทานเกลือ (รสเค็ม) มาก ปานกลาง และน้อย เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วง 7 วันหลังคลอด พบว่ากลุ่มมารดาที่ชอบรับประทานเกลือมากมีความเสี่ยงในการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่ากลุ่มมารดาที่รับประทานเกลือน้อยถึง 2.43 เท่า (ค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 95 เท่ากับ 1.20-4.92) นอกจากนี้ในช่วง 14 วัน 21 วัน และ 25 วันหลังคลอดกลุ่มมารดาที่ชอบรับประทานเกลือมากจะมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวต่ำกว่ากลุ่มมารดาที่ชอบรับประทานเกลือน้อย2 คำอธิบายของผลนี้อาจเป็นจากการกินเกลือจะลดระดับของฮอร์โมนโปรแลคตินและลดการตอบสนองของโปรแลคตินต่อการกระตุ้นดูดนมซึ่งเป็นข้อมูลจากการศึกษาในสัตว์3 อย่างไรก็ตาม คำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลการศึกษานี้จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

หนังสืออ้างอิง

1.???????? Al-Dahhan J, Jannoun L, Haycock GB. Effect of salt supplementation of newborn premature infants on neurodevelopmental outcome at 10-13 years of age. Arch Dis Child Fetal Neonatal Ed 2002;86:F120-3.

2.???????? Verd S, Nadal-Amat J, Gich I, Leshem M. Salt preference of nursing mothers is associated with earlier cessation of exclusive breastfeeding. Appetite 2010;54:233-6.

3.???????? Nagy GM, Arendt A, Banky Z, Halasz B. Dehydration attenuates plasma prolactin response to suckling through a dopaminergic mechanism. Endocrinology 1992;130:819-24.

?

?