การผ่าตัดคลอดเสี่ยงต่อการเกิดเต้านมอักเสบ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เต้านมอักเสบเป็นอาการที่เกิดการอักเสบของเต้านมโดยสิ่งที่เป็นสาเหตุหลักคือการขังและไม่มีการระบายของน้ำนม ซึ่งเมื่ออาการขังของน้ำนมเป็นมากขึ้นก็จะยิ่งไปอุดตันท่อน้ำนม ทำให้เกิดอาการคัด เจ็บและอักเสบของเต้านม การอักเสบของเต้านมอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยก็ได้ ซึ่งหากการอักเสบของเต้านมเป็นมากขึ้นอาจลุกลามไปเป็นฝีที่เต้านมได้ แล้วทีนี้ บางคนอาจเกิดคำถามหรือสงสัยว่า การผ่าตัดคลอดเกี่ยวข้องอย่างไรกับการเกิดเต้านมอักเสบ การผ่าตัดคลอดแม้เป็นวิวัฒนาการในการช่วยให้การคลอดเกิดขึ้นได้โดยการผ่าตัดนำทางออกมาจากมดลูกผ่านผนังหน้าท้อง แต่กลไกการคลอดของการผ่าตัดคลอดนั้นไม่เป็นไปตามธรรมชาติ มารดาจำเป็นต้องได้รับยาระงับความรู้สึกในขณะที่ผ่าตัดคลอด ซึ่งเมื่อได้รับยาระงับความรู้สึกจะมีผลต่อสติและการรับรู้ของมารดา การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่โดยธรรมชาติแล้วจะเริ่มต้นเร็วตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดโดยส่วนใหญ่จะเกิดในหนึ่งชั่วโมงแรก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการมาของน้ำนมและฮอร์โมนที่จะช่วยให้น้ำนมไหลได้ดี เมื่อสติหรือการรับรู้ของมารดายังไม่สมบูรณ์การเริ่มต้นการให้ลูกได้ดูดนมหรือการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อก็จะเกิดช้า การมาของน้ำนมก็มักจะช้า ขณะที่ความต้องการน้ำนมของทารกจะเพิ่มขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป ทารกอาจร้องกวน หรือมารดาอาจวิตกกังวลว่ามีน้ำนมไม่เพียงพอ จึงให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกแก่ลูก ทารกก็จะเกิดการติดขวดนมเนื่องจากน้ำนมที่ไหลจากขวดนมนั้นไหลออกได้ง่ายโดยทารกไม่ต้องออกแรงดูด ดังนั้นเมื่อให้ทารกกลับไปกินนมแม่จากเต้า ทารกจะสับสน ไม่ยอมดูดนมและเกิดอาการหงุดหงิดหรือร้องกวนได้ แต่เมื่อน้ำนมของมารดาเริ่มมาและตึงคัด ทารกกลับไม่ยอมดูดหรือกินนมจากเต้า การขังของน้ำนมส่งผลให้เกิดการอักเสบของเต้านมจึงเกิดขึ้นได้ มีรายงานว่า การผ่าตัดคลอดมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดเต้านมอักเสบมากกว่ามารดาที่คลอดทางช่องคลอดถึง 3.5 เท่า1 ดังนั้น การที่จะป้องกันหรือลดความเสี่ยงนี้ ควรเริ่มจากการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น และถ้าหากจำเป็นต้องผ่าตัดคลอด การเลือกวิธีการระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง การเริ่มการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและให้ลูกได้ดูดนมก็จะเริ่มได้เร็วกว่า อาจทำได้ใกล้เคียงกับการคลอดทางช่องคลอด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดเต้านมอักเสบที่พบเพิ่มขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Khanal V, Scott JA, Lee AH, Binns CW. Incidence of Mastitis in the Neonatal Period in a Traditional Breastfeeding Society: Results of a Cohort Study. Breastfeed Med 2015;10:481-7.