รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
อาการแหวะนมหรืออาการสำรอก (regurgitation) พบได้บ่อยในทารก สาเหตุของการที่ทารกแรกเกิดมีการแหวะนมหรือสำรอกได้ง่ายเกิดจากการที่ทารกกินนมมากเกินไปในขณะที่กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารยังทำงานได้ไม่ดีหรือไม่สมบูรณ์ หรือบางครั้งการสำรอกอาจเกิดจากการที่ทารกกินนมและดูดอากาศเข้าไปในกระเพาะมาก เมื่ออากาศถูกไล่ออกมา จะมีน้ำนมไหลปนออกมาด้วย
การดูแลและป้องกันทารกแหวะนมหรือสำรอก ทำได้โดยจัดท่าให้ทารกอยู่ในลักษณะนั่งลำตัวตั้งตรงหลังจากกินนม การให้ทารกกินนมครั้งหนึ่งน้อยลงและให้บ่อยครั้งขึ้นอาจจะช่วยได้ นอกจากนี้ ไม่ควรรอหรือปล่อยให้ทารกกินนมขณะที่หิวมาก เนื่องจากทารกอาจกลืนเร็วเกินไปและกลืนลมเข้าไปมากด้วยทำให้แหวะนมหรือสำรอกได้ ดังนั้น ควรจับทารกให้เรอเป็นช่วงๆ หากทารกกินและกลืนนมเร็ว โดยท่าที่ใช้อุ้มทารกให้เรออาจใช้ท่าอุ้มพาดบ่าให้หน้าท้องกดบริเวณหัวไหล่เพื่อไล่ลม หรืออาจใช้ท่าอุ้มนั่งบนตัก หันหน้าออก โดยมือข้างหนึ่งจับที่หน้าอกทารก มืออีกข้างหนึ่งลูบหลังทารกหรือเคาะเบาๆ พร้อมกับโน้มตัวทารกไปข้างหน้า1
อย่างไรก็ตาม มารดาและครอบครัวควรได้รับการสอนให้แยกความแตกต่างระหว่างการแหวะนมหรือสำรอกกับอาการอาเจียน อาการแหวะนมหรือสำรอกมักไม่เป็นอันตราย แต่อาการอาเจียนเป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของความเจ็บป่วยหรือความผิดปกติของทารก การแหวะนมหรือสำลักปริมาณนมที่ไหลออกมามักไม่มากและไหลออกมาไม่แรง อาการอาเจียนปริมาณนมที่ออกมาจะมากหรือทั้งมื้อของการกินนมและไหลออกมาแรงเป็นลักษณะพุ่งออกมา หากอาเจียนไกลหรืออาเจียนพุ่งอาจพบในทารกที่มีการอุดตันของกระเพาะ (pyloric stenosis) ได้
เอกสารอ้างอิง
- ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.