การจัดการความรู้เรื่องภาวะลิ้นติด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัญหาเรื่องทารกมีภาวะลิ้นติดเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจและเอาใจใส่มากขึ้น เนื่องจากหากดูขนาดของปัญหาพบว่า อุบัติการณ์ที่พบภาวะลิ้นติดในประเทศไทยราวร้อยละ 14-15 แต่มีบางโรงพยาบาลได้แก่ โรงพยาบาลอ่างทองพบถึงร้อยละ 30 ซึ่งหากพิจารณาสัดส่วนของความรุนแรงของภาวะลิ้นติดจะพบว่า มีภาวะลิ้นติดเล็กน้อยครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งจะเป็นภาวะลิ้นติดปานกลางถึงรุนแรงโดยที่จะพบราวร้อยละ 7 ซึ่งทารกที่มีภาวะลิ้นติดปานกลางหรือรุนแรงจะมีโอกาสหรือความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหาที่มารดาจะเกิดอาการเจ็บหัวนมขณะดูดนมหรือมีปัญหาเรื่องการเข้าเต้า อย่างไรก็ตาม หากมองปัญหาเรื่องการเจ็บเต้านมเป็นหลัก จะพบว่าสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้มารดาเกิดอาการเจ็บหัวนมก็คือ การจัดท่าเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น ปัญหาของเรื่องภาวะลิ้นติดก็คือ บุคลากรทางการแพทย์จะรู้ได้อย่างไรว่าทารกมีภาวะลิ้นติดและหากทารกมีภาวะลิ้นติดแล้วจะต้องดูแลรักษาอย่างไร

? ? ? ? ? ? ในประเด็นแรกคือ การให้การวินิจฉัยภาวะลิ้นติด ส่วนใหญ่คนที่เป็นผู้ตรวจคัดกรองภาวะลิ้นติดเป็นคนแรกมักเป็นพยาบาล จึงต้องมีการอบรมให้พยาบาลให้การวินิจฉัยได้ ซึ่งอาจใช้เกณฑ์การวินิจฉัยของศิริราช (SIRIRAJ TONGUE-TIE SCORE) หรืออาจใช้เครื่องมือวัดเพื่อช่วยวินิจฉัยภาวะลิ้นติด (MEDSWU TONGUE TIE DIRECTOR) เพื่อให้เกิดการคัดกรองกลุ่มทารกที่มีภาวะลิ้นติดปานกลางหรือรุนแรงที่อาจมีปัญหา หลังจากนั้นจึงอาจส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาการดูแลรักษา อาจเป็นสูติแพทย์ กุมารแพทย์ ทันตแพทย์ กุมารศัลยแพทย์ หรือแพทย์โสต ศอ นาสิก ลาริงซ์วิทยา (พิจารณาตามบริบทความพร้อมของแต่ละแห่ง)

? ? ? ? ? ?ประเด็นที่สองคือ เมื่อวินิจฉัยได้แล้วจะให้การดูแลได้อย่างไร มีข้อแนะนำว่าให้พิจารณาจากอาการของมารดาเป็นหลัก คือหากมารดาเจ็บเต้านมขณะทารกดูดนมหลังจากการปรับท่าให้เหมาะสมแล้วก็ควรพิจารณาการเลือกการผ่าตัดรักษา หรือให้มารดาสังเกตว่าขณะทารกดูดนมลิ้นของทารกสามารถจะยื่นออกมาอยู่ที่ลานนมได้หรือไม่ หากยื่นออกมาได้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัด การผ่าตัดควรส่งเสริมให้เกิดการผ่าตัดได้ในช่วงก่อนมารดากลับไปบ้าน เพราะหากมารดากลับไปบ้านแล้ว มารดาอาจจะเจ็บหัวนมจนต้องหยุดให้นมก่อนเวลาที่ควร สำหรับมารดาหลังกลับไปที่บ้านและมาตรวจพบว่ามีภาวะลิ้นติดขณะที่ติดตามอาการ ต้องพิจารณาเรื่องการผ่าตัดด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากหากมารดากลับไปบ้านและทารกยังดูดนมได้ น้ำหนักขึ้นดี พังผืดใต้ลิ้นอาจยืดออก ทารกตัวโตขึ้น อ้าปากได้กว้างขึ้น อมหัวนมและลานนมได้ลึกขึ้น การผ่าตัดอาจไม่มีความจำเป็นแล้ว อย่างไรก็ตาม หากมารดามีความวิตกกังวลในเรื่องทารกเมื่อโตขึ้น อาจพูดสระหรืออักษรบางตัวได้ไม่ชัดและมารดามีความวิตกกังวลมาก อาจพิจารณาการผ่าตัดจากข้อบ่งชี้นี้ สำหรับทางเลือกในการรักษาอย่างอื่น ได้มีการนำเสนอการรักษาภาวะลิ้นติดด้วยมณีเวช โดยตั้งสมมุติฐานอธิบายกลไกของการทำมณีเวชช่วยปรับสมดุลของร่างกาย และสร้างให้เกิดความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อที่ลิ้นและพังผืด ทำให้ทารกที่มีภาวะลิ้นติดนั้นสามารถแลบลิ้นยื่นออกมาและดูดนมได้ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อการศึกษาต่อไป

? ? ? ? สำหรับอื่น ๆ ได้แก่ ประเด็นด้านการยอมรับการผ่าตัดรักษา ส่วนใหญ่มารดาจะมีความรู้ในเรื่องภาวะลิ้นติดพอสมควร แต่การให้ความรู้แก่มารดาในระหว่างการฝากครรภ์ก็มีส่วนช่วยเพิ่มความรู้และความเข้าใจในเรื่องภาวะลิ้นติดของมารดาและครอบครัวและช่วยให้มารดายอมรับการผ่าตัดได้ดีหากมีข้อบ่งชี้ในการรักษา

เอกสารอ้างอิง

  1. การประชุมการจัดการความรู้ เลี้ยงนมแม่สำเร็จ เคล็ดวิธี ของมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ที่โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น ณ ห้องเกษตร กรุงเทพมหานคร วันที่ 24-25 เมษายน 2561