คลังเก็บป้ายกำกับ: ten steps to successful breastfeeding

10 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (ตอนที่ 1)

obgyn

เขียนโดย รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

10 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (Ten Steps to Successful Breastfeeding) ได้รับการกำหนดเป็นนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากองค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 และได้มีการศึกษาถึงผลการนำไปปฏิบัติต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยจะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในระยะเวลาหกเดือน1 ขั้นตอน 10 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีรายละเอียดดังนี้

  • มีนโยบายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เขียนไว้ชัดเจนไว้สื่อสารกับบุคลากร การเขียนนโยบายควรสื่อสารความชัดเจนในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขั้นตอน กระบวนการและสิ่งสนับสนุนที่ช่วยเหลือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงสื่อสารในเรื่องการให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณสนับสนุน ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากเป็นการสื่อสารในองค์กรแล้ว ยังเป็นการสื่อสารให้กับมารดาและครอบครัวได้เห็นถึงแนวทางในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของโรงพยาบาลและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกระแสสังคมด้วย มีการศึกษาว่าการมีนโยบายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เขียนไว้ชัดเจนไว้สื่อสารกับบุคลากรมีความสัมพันธ์แบบอิสระกับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยให้มีการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสองสัปดาห์หลังคลอดสูงขึ้น2
  • ฝึกบุคลากรให้มีทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติตามนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การฝึกอบรมบุคลากรที่เป็นผู้ดูแลแม่และลูกในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมหลักสูตร 20 ชั่วโมง ซึ่งจะมีการปฏิบัติทางคลินิก 3 ชั่วโมงและในการฝึกทักษะสัดส่วนแพทย์ผู้สอนต่อผู้เข้าอบรม 1:1หรือ 1:2 ปัญหาหนึ่งของบุคลากรคือ แพทย์ผู้เป็นผู้นำในการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังขาดความรู้และทักษะในการสอนและจัดให้มารดาและทารกได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ในปัจจุบันการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การประกอบวิชาชีพเวชกรรมปี 2555 ในการสอนนักศึกษาแพทย์และมีการหลักสูตรส่งเสริมการเรียนการสอนของอาจารย์แพทย์สาขาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาและกุมารเวชศาสตร์ มีตำรา เอกสารการสอนและสื่อสนับสนุนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำให้ระบบการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้น ซึ่งอิทธิพลในด้านความคิดเห็นของแพทย์มีผลต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างมาก3,4

หนังสืออ้างอิง

1.??????????? Zakarija-Grkovic I, Segvic O, Bozinovic T, et al. Hospital practices and breastfeeding rates before and after the UNICEF/WHO 20-hour course for maternity staff. J Hum Lact 2012;28:389-99.

2.??????????? Rosenberg KD, Stull JD, Adler MR, Kasehagen LJ, Crivelli-Kovach A. Impact of hospital policies on breastfeeding outcomes. Breastfeed Med 2008;3:110-6.

3.??????????? Taveras EM, Li R, Grummer-Strawn L, et al. Opinions and practices of clinicians associated with continuation of exclusive breastfeeding. Pediatrics 2004;113:e283-90.

4.??????????? Taveras EM, Capra AM, Braveman PA, Jensvold NG, Escobar GJ, Lieu TA. Clinician support and psychosocial risk factors associated with breastfeeding discontinuation. Pediatrics 2003;112:108-15.