รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในน้ำนมแม่ของมนุษย์มีสัดส่วนของโอลิโกแซคคาไรด์ที่แตกต่างกันกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ชนิดอื่น ซึ่งสัดส่วนของโอลิโกแซคาไรด์ที่แตกต่างกันมีผลต่อการป้องกันการติดเชื้อที่แตกต่างกัน ในน้ำนมของมนุษย์มีโอลิโกแซคคาไรด์ 5-15 กรัมต่อลิตร ขณะที่น้ำนมวัวมีโอลิโกแซคคาไรด์ต่ำ 0.05 กรัมต่อลิตร และมีการศึกษาพบว่า โอลิโกแซคคาไรด์ในน้ำนมมนุษย์ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อ Streptococcus group B ได้ นอกจากนี้ยังพบว่าโอลิโกแซคคาไรด์อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อของลำไส้ที่เรียกว่า necrotizing enterocolitis โดยการติดเชื้อนี้มักพบในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งการติดเชื้อของลำไส้ชนิดนี้ พบได้มาก 6-10 เท่าในทารกที่กินผงดัดแปลงสำหรับทารกเมื่อเทียบกับทารกที่กินนมแม่1 อย่างไรก็ตาม นอกจากสัดส่วนของปริมาณโอลิโกแซคคาไรด์ในน้ำนมแม่ที่มีผลต่อสุขภาพทารก แต่ส่วนประกอบของโอลิโกแซคคาไรด์ยังมีความสำคัญด้วย ดังนั้น ขณะที่ยังขาดข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเสริมโอลิโกแซคคาไรด์ในนมผงดัดแปลงสำหรับทารกว่ามีผลดีต่อสุขภาพทารกแต่ก็มีการนำไปใช้เป็นประเด็นในโฆษณา มารดาหรือบุคลากรทางการแพทย์จึงควรพิจารณาข้อเท็จจริงเหล่านี้เพื่อใช้เลือกอาหารสำหรับทารกที่เหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
- Bode L. Human Milk Oligosaccharides at the Interface of Maternal-Infant Health. Breastfeed Med 2018;13:S7-S8.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ?โอลิโกแซคคาไรด์ที่มีในนมแม่จะช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันต่อต้านการติดเชื้อในลำไส้ และช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อลง โดยมีการศึกษาในการช่วยป้องกันการติดเชื้อโรต้าไวรัส (Rotavirus)1,2 โนโรไวรัส (Norovirus)3 ป้องกันพิษของ Clostridium difficile4 และยังเป็นพรีไบโอติก (prebiotic) ที่ช่วยในการเจริญเติบโตของเชื้อถิ่นที่อยู่ในลำไส้ (probiotics) ซึ่งอาจจะช่วยในการลดการเกิดภาวะลำไส้เน่าตาย (Necrotizing enterocolitis)5,6 และการติดเชื้อรา Candida abican7 ในลำไส้ของทารกที่คลอดก่อนกำหนดได้5,6 ดังนั้น โอลิโกแซคคาไรด์ที่มีในนมแม่จึงเป็นพรีไบโอติกตามธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องซื้อหาหรือเติมแต่งเพิ่มเติม แต่ควรมีการให้ความรู้แก่มารดาและครอบครัว รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพรีไบโอติก
เอกสารอ้างอิง
- Li M, Monaco MH, Wang M, et al. Human milk oligosaccharides shorten rotavirus-induced diarrhea and modulate piglet mucosal immunity and colonic microbiota. The ISME journal 2014;8:1609-20.
- Hester SN, Chen X, Li M, et al. Human milk oligosaccharides inhibit rotavirus infectivity in vitro and in acutely infected piglets. Br J Nutr 2013;110:1233-42.
- Weichert S, Koromyslova A, Singh BK, et al. Structural Basis for Norovirus Inhibition by Human Milk Oligosaccharides. J Virol 2016.
- Nguyen TT, Kim JW, Park JS, et al. Identification of Oligosaccharides in Human Milk Bound onto the Toxin A Carbohydrate Binding Site of Clostridium difficile. J Microbiol Biotechnol 2015.
- Underwood MA, Gaerlan S, De Leoz ML, et al. Human milk oligosaccharides in premature infants: absorption, excretion, and influence on the intestinal microbiota. Pediatr Res 2015;78:670-7.
- Wickramasinghe S, Pacheco AR, Lemay DG, Mills DA. Bifidobacteria grown on human milk oligosaccharides downregulate the expression of inflammation-related genes in Caco-2 cells. BMC microbiology 2015;15:172.
- Gonia S, Tuepker M, Heisel T, Autran C, Bode L, Gale CA. Human Milk Oligosaccharides Inhibit Candida albicans Invasion of Human Premature Intestinal Epithelial Cells. J Nutr 2015;145:1992-8.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? โอลิโกแซคคาไรด์เป็นสารประกอบคาร์บอไฮเดรตที่มีอยู่ในนมแม่ ซึ่งในนมผงดัดแปลงสำหรับทารกพยายามจะเสริมสารอาหารต่างๆ รวมทั้งโอลิโกแซคคาไรด์ลงไปในนมผงเพื่อสร้างความแตกต่างและชูจุดขายในชนิดและยี่ห้อนมที่เสริมสารเหล่านี้ แต่โอลิโกแซคคาไรด์ที่มีในนมแม่นั้นมีความจำเพาะและมีความสามารถในการต่อต้านการติดเชื้อโรต้าไวรัส1ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียในทารกโดยหากมีการติดเชื้อและอาการรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่นั้นนอกจากจะห้ามการเจริญเติบโตของไวรัสแล้วยังลดระยะเวลาการติดเชื้อของไวรัสลง2 ทำให้ความรุนแรงของอาการท้องเสียลดลง นี่คือเหตุผลหนึ่งที่อธิบายเหตุผลว่าทำไมทารกที่กินนมแม่จึงมีภูมิคุ้นกันต่อต้านการติดเชื้อในลำไส้รวมถึงอาการท้องเสียที่เป็นสาเหตุที่สำคัญในการเสียชีวิตของทารกในระยะแรกของชีวิตได้
เอกสารอ้างอิง
- Hester SN, Chen X, Li M, et al. Human milk oligosaccharides inhibit rotavirus infectivity in vitro and in acutely infected piglets. Br J Nutr 2013;110:1233-42.
- Li M, Monaco MH, Wang M, et al. Human milk oligosaccharides shorten rotavirus-induced diarrhea and modulate piglet mucosal immunity and colonic microbiota. The ISME journal 2014;8:1609-20.
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)