คลังเก็บป้ายกำกับ: โรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังที่พบในระหว่างการตั้งครรภ์

โรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังที่พบในระหว่างการตั้งครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           โรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง สาเหตุ ส่วนใหญ่ร้อยละ 86-89 ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด (essential hypertension) ที่เหลือเกิดตามโรคเรื้อรัง (secondary) อื่น ๆ1  ได้แก่ โรคไต โรคจากความผิดปกติของฮอร์โมน และโรคที่ทำให้มีความผิดปกติของหลอดเลือด ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ โรคอ้วน กลุ่มอาการเมตาบอลิกอื่น และพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม

         การวินิจฉัยจากการตรวจพบความดันโลหิต systolic เท่ากับหรือมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันโลหิต diastolic เท่ากับหรือมากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอทจากการวัดความดันโลหิตอย่างน้อยสองครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ซึ่งตรวจพบก่อนการตั้งครรภ์ หรือในกรณีที่ตรวจพบครั้งแรกในระหว่างการตั้งครรภ์ จะให้การวินิจฉัยหลังติดตามมารดาแล้วพบมีความดันโลหิตสูงหลังคลอดตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป1

         อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association หรือ AHA) และวิทยาลัยโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American College of Cardiology หรือ ACC) ได้ปรับเปลี่ยนการให้การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง โดยรวมเอาบุคคลที่มีความดันโลหิต systolic 130-139 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันโลหิต diastolic 80-89 มิลลิเมตรปรอท และแนะนำให้มีการดูแลรักษาความดันโลหิตสูงในกลุ่มนี้ด้วย แต่สำหรับในมารดาที่ตั้งครรภ์ยังขาดข้อมูลที่แสดงถึงผลประโยชน์ต่อมารดาและทารกที่ชัดเจนของการให้การดูแลรักษามารดาในกลุ่มนี้1,2  

          แนวทางการดูแลรักษาคือ ควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไปจนเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งการควบคุมความดันโลหิตจะใช้ยาเป็นหลักในการรักษา โดยยาที่แนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกแรกในระหว่างการตั้งครรภ์ ได้แก่ labetalol และ nifedipine กรณีที่ยาในทางเลือกแรกใช้ไม่ได้ผล แนะนำให้เลือกใช้ยา methyldopa หรือ hydrochlorothiazide เป็นทางเลือกที่สอง แต่ไม่ควรใช้ยาในกลุ่ม angiotensin-converting enzyme inhibitors เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับการเกิดความพิการของทารก การทำงานของไตของทารกผิดปกติหรือเสียหาย และการเกิดภาวะน้ำคร่ำน้อยได้ และ atenolol ที่พบมีความสัมพันธ์กับทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า (fetal growth restriction)2

เอกสารอ้างอิง

  1. ACOG Practice Bulletin No. 203: Chronic Hypertension in Pregnancy. Obstet Gynecol 2019;133:e26-e50.
  2. Battarbee AN, Sinkey RG, Harper LM, Oparil S, Tita ATN. Chronic Hypertension in Pregnancy. Am J Obstet Gynecol 2019.