รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักเริ่มจากในโรงพยาบาล การเขียนข้อแนะนำที่เป็นแนวทางการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องที่ยาก แพทย์ซึ่งเป็นผู้นำในการรักษาต้องมีการประสานงานกับทีมที่ดูแลเพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมจะนำไปใช้ในโรงพยาบาลของตนเอง โดยการค้นคว้าหาข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ของกระบวนการหรือแนวทางการปฏิบัติต่าง ๆ แล้วนำมาพิจารณาร่วมกับทีมเพื่อวางแนวทางที่สอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลและผู้รับบริการที่เกี่ยวข้อง ผมในฐานะผู้ดูแลทีมการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฆจึงได้ทบทวนและจัดทำแนวทางการปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงพยาบาล เพื่อนำไปใช้ในศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และหวังว่าหากแพทย์ผู้ดูแลสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาลอื่นเห็นว่าเป็นประโยชน์ สามารถนำไปปรับหรือเลือกใช้ให้เหมาะสมของโรงพยาบาลของตนเอง เพื่อร่วมมือกันในการสนับสนุนให้เด็กไทยได้กินนมแม่มากขึ้น
การคัดกรองความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร
- ควรมีการกำหนดเกณฑ์ความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรให้มีนิยามที่ชัดเจน แจ้งให้ทีมผู้ดูแลทราบ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
- ควรมีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติสำหรับกลุ่มเสี่ยงและปฏิบัติตามแนวทางการดูแลที่วางไว้ โดยมีการเก็บข้อมูลการปฏิบัติ ปัญหาและอุปสรรค เพื่อนำมาติดตามผลการปฏิบัติงาน วิเคราะห์หาองค์ความรู้ใหม่ และปรับปรุงพัฒนาการทำงาน