คลังเก็บป้ายกำกับ: แนวทางการปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับโรงพยาบาล

แนวทางการปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับโรงพยาบาล ตอนที่ 5

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มารดาที่มีความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรในระยะฝากครรภ์และในระหว่างการคลอด เมื่อมาคลอด ควรมีการกระตุ้นให้มารดาโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด และเมื่อมารดาและทารกย้ายไปที่หอผู้ป่วยหลังคลอด หรือในมารดาและทารกที่มีความเสี่ยงในระยะแรกหลังคลอด ควรมีแนวทางการปฏิบัติดังนี้

  • จัดให้มารดาอยู่ร่วมกันกับทารกตลอด 24 ชั่วโมง
  • สอนและฝึกให้มารดาบีบน้ำนมด้วยมือ เข้าเต้า และจัดท่าให้นมลูก
  • จัดบุคลากรที่มีทักษะในการประเมินและให้คำแนะนำในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เยี่ยมมารดาและทารกทุก 8 ชั่วโมง
  • นัดติดตามมารดาและทารกหลังจากได้รับอนุญาตให้กลับบ้านในช่วง 3-5 วันที่คลินิกนมแม่

แนวทางการปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับโรงพยาบาล ตอนที่ 4

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เกณฑ์ความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรในระยะแรกหลังคลอด1,2

  • มารดาที่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยกว่า 3  เดือน
  • มารดาที่วางแผนจะให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกก่อน 3 เดือน
  • มารดาที่ต้องกลับไปทำงานเร็วก่อน 3 เดือน
  • มารดาที่รู้สึกมีน้ำนมไม่เพียงพอ
  • มารดาที่เจ็บหัวนมหรือมีหัวนมหลังทารกดูดนมแบน
  • มารดาที่มีน้ำนมมาช้าเกิน 72 ชั่วโมงหลังคลอด
  • มารดาที่ไม่สามารถจะบีบหัวน้ำนมด้วยมือ
  • มารดาที่ได้รับยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีนในระยะหลังคลอด
  • ทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย
  • ทารกครรภ์แฝด
  • ทารกที่มีความผิดปกติของกายวิภาคในช่องปาก ได้แก่ ทารกที่มีปากแหว่งเพดานโหว่ ลิ้นใหญ่คับปาก คางเล็ก และทารกที่มีภาวะลิ้นติด
  • ทารกที่มีความผิดปกติของระบบประสาท ได้แก่ กลุ่มโรคทางพันธุกรรมที่มีกล้ามเนื้อเกร็งตัว (hypertonia) หรือการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ (hypotonia)
  • ทารกที่มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ น้ำตาลในเลือดต่ำ มีภาวะตัวเหลือง หายใจเร็ว มีภาะขาดออกซิเจนในครรภ์ มีการติดเชื้อ หรือมีการบาดเจ็บระหว่างการคลอด
  • ทารกที่มีอาการง่วงหลับต่อเนื่อง
  • ทารกที่มีการเข้าเต้าที่ยากลำบาก
  • ทารกที่ดูดนมไม่ต่อเนื่องหรือไม่มีประสิทธิภาพ

เอกสารอ้างอิง

1.         Feldman-Winter L, Kellams A, Peter-Wohl S, et al. Evidence-Based Updates on the First Week of Exclusive Breastfeeding Among Infants >/=35 Weeks. Pediatrics 2020;145.

2.         Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.

แนวทางการปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับโรงพยาบาล ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เกณฑ์ความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรในระหว่างการคลอด1,2

            ข้อมูลในระหว่างการคลอด

  • มารดาที่มีการคลอดที่เนิ่นนาน (ครรภ์แรก ≥ 20 ชั่วโมง และครรภ์หลัง ≥ 14 ชั่วโมง)
  • มารดาที่มีการกระตุ้นหรือชักนำการคลอดนาน (≥ 14 ชั่วโมง)
  • มารดาที่มีการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีนในระหว่างการคลอด
  • มารดาที่มีภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการคลอด ได้แก่ โรคเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (gestational hypertension)  ครรภ์เป็นพิษ (preeclampsia) มารดาที่มีการติดเชื้อโดยเฉพาะเป็นการติดเชื้อของรกและถุงน้ำคร่ำ และมารดาที่มีการตกเลือดหลังคลอด

ข้อมูลทารกจากการประเมินเบื้องต้น

  • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย
  • ทารกครรภ์แฝด
  • ทารกที่มีความผิดปกติของกายวิภาคในช่องปาก ได้แก่ ทารกที่มีปากแหว่งเพดานโหว่ ลิ้นใหญ่คับปาก คางเล็ก และทารกที่มีภาวะลิ้นติด
  • ทารกที่มีความผิดปกติของระบบประสาท ได้แก่ กลุ่มโรคทางพันธุกรรมที่มีกล้ามเนื้อเกร็งตัว (hypertonia) หรือการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ (hypotonia)
  • ทารกที่มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ น้ำตาลในเลือดต่ำ มีภาวะตัวเหลือง หายใจเร็ว มีภาะขาดออกซิเจนในครรภ์ มีการติดเชื้อ หรือมีการบาดเจ็บระหว่างการคลอด

เอกสารอ้างอิง

1.         Feldman-Winter L, Kellams A, Peter-Wohl S, et al. Evidence-Based Updates on the First Week of Exclusive Breastfeeding Among Infants >/=35 Weeks. Pediatrics 2020;145.

2.         Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.

แนวทางการปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับโรงพยาบาล ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เกณฑ์ความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรในคลินิกฝากครรภ์1,2

            ข้อมูลสุขภาพและประวัติทั่วไปของมารดา

  • มารดาวัยรุ่น (มารดาที่อายุน้อยกว่า 20 ปีเมื่อคิดอายุจนถึงวันกำหนดคลอด)
  • มารดาที่อายุมาก (มารดาที่อายุมากกว่า 40 ปีเมื่อคิดอายุจนถึงวันกำหนดคลอด)
  • มารดาที่มีหัวนมบอด หัวนมแบน หรือหัวนมสั้น (ความยาวหัวนมสั้นกว่า 0.5 เซนติเมตร)
  • มารดาที่อ้วน (ดัชนีมวลกายตั้งแต่ 27 kg/m2)
  • มารดาที่สูบบุหรี่
  • มารดาที่มีโรคประจำตัวที่จะส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ กลุ่มอาการถุงน้ำมากในรังไข่ (polycystic ovarian syndrome) เป็นต้น
  • มารดาที่มีประวัติการผ่าตัดเต้านมทั้งการผ่าตัดก้อนที่เต้านม และการผ่าตัดเสริมเต้านม

ประวัติทางสูตินรีเวช

  • มารดาครรภ์แรก
  • มารดาที่มีปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในครรภ์ก่อน หยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร หรือให้ลูกกินนมแม่แล้วทารกน้ำหนักขึ้นน้อย
  • มารดาที่ขาดการตึงคัดเต้านมในระหว่างการตั้งครรภ์หรือในขณะย่างเข้าสู่วัยรุ่น
  • มารดาที่มีประวัติการมีฝีที่เต้านม
  • มารดาที่มีบุตรยาก หรือใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

เอกสารอ้างอิง

1.         Feldman-Winter L, Kellams A, Peter-Wohl S, et al. Evidence-Based Updates on the First Week of Exclusive Breastfeeding Among Infants >/=35 Weeks. Pediatrics 2020;145.

2.         Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Paritakul P, Ketsuwan S, Wongin S. Nipple length and its relation to success in breastfeeding. J Med Assoc Thai 2013;96 Suppl 1:S1-4.

แนวทางการปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับโรงพยาบาล ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักเริ่มจากในโรงพยาบาล การเขียนข้อแนะนำที่เป็นแนวทางการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องที่ยาก แพทย์ซึ่งเป็นผู้นำในการรักษาต้องมีการประสานงานกับทีมที่ดูแลเพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมจะนำไปใช้ในโรงพยาบาลของตนเอง โดยการค้นคว้าหาข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ของกระบวนการหรือแนวทางการปฏิบัติต่าง ๆ แล้วนำมาพิจารณาร่วมกับทีมเพื่อวางแนวทางที่สอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลและผู้รับบริการที่เกี่ยวข้อง  ผมในฐานะผู้ดูแลทีมการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฆจึงได้ทบทวนและจัดทำแนวทางการปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงพยาบาล เพื่อนำไปใช้ในศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และหวังว่าหากแพทย์ผู้ดูแลสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาลอื่นเห็นว่าเป็นประโยชน์ สามารถนำไปปรับหรือเลือกใช้ให้เหมาะสมของโรงพยาบาลของตนเอง เพื่อร่วมมือกันในการสนับสนุนให้เด็กไทยได้กินนมแม่มากขึ้น

การคัดกรองความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร

  • ควรมีการกำหนดเกณฑ์ความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรให้มีนิยามที่ชัดเจน แจ้งให้ทีมผู้ดูแลทราบ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
  • ควรมีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติสำหรับกลุ่มเสี่ยงและปฏิบัติตามแนวทางการดูแลที่วางไว้ โดยมีการเก็บข้อมูลการปฏิบัติ ปัญหาและอุปสรรค เพื่อนำมาติดตามผลการปฏิบัติงาน  วิเคราะห์หาองค์ความรู้ใหม่ และปรับปรุงพัฒนาการทำงาน