คลังเก็บป้ายกำกับ: แก้ปัญหาน้ำนมไม่พอ

วิธีที่จะเอาชนะปัญหาเรื่องน้ำนมไม่เพียงพอ

PICT0031

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ตัวชี้วัดหลักที่จะบ่งบอกว่าน้ำนมแม่เพียงพอ คือ การที่ทารกมีน้ำหนักเพิ่ม แต่มารดาต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับน้ำหนักทารกหลังคลอดปกติก่อน ได้แก่ ในทารกปกติจะมีน้ำหนักลดมากที่สุดในช่วงวันที่สามหลังคลอดและน้ำหนักที่ลดจะไม่เกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว1 จากนั้น น้ำหนักทารกจะเริ่มขึ้นภายใน 5-7 วันหลังคลอด สำหรับตัวชี้วัดอื่นๆ ที่ใช้เป็นข้อมูลประกอบ ได้แก่ ในช่วง 48-72 ชั่วโมงหลังคลอด ทารกจะปัสสาวะบ่อย โดยลักษณะปัสสาวะสีไม่เข้ม ไม่มีกลิ่น และในช่วง 72-96 ชั่วโมงหลังคลอดทารกจะมีลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนจากสีเขียวเข้มไปเป็นสีเหลือง หากทารกน้ำหนักลดหลังสัปดาห์แรกของการคลอด สิ่งนี้เป็นตัวบ่งบอกว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจไม่เพียงพอ

มารดาที่กลับบ้านได้เร็วหลังคลอด เมื่อมีปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องน้ำนมไม่เพียงพอ การคาบและอมหัวนมพร้อมลานนมและการจัดท่าให้นมอย่างเหมาะสมจะช่วยลดปัญหาเรื่องการเจ็บหัวนมซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่นำไปสู่การหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นการคาบและอมหัวนมพร้อมลานนมและการจัดท่าให้นมจึงเป็นส่วนที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากในการให้ทารกดูดนม ลักษณะการคาบและอมหัวนมพร้อมลานนมที่ถูกต้อง ทารกจะอ้าปากกว้าง คาบหัวนมและลานนมโดยริมฝีปากล่างอยู่ลึกเข้าไปที่ลานนามมากกว่าริมฝีปากบน ทารกจะคาบเต้านมเต็มปาก เมื่อทารกดูดนมจะมีการขยับการกล้ามเนื้อบริเวณกรามเป็นจังหวะไปทางด้านหลังบริเวณหู และไม่ควรพบว่ามีแก้มบุ๋มลงไปขณะดูดนมซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ถูกต้อง

สำหรับความถี่ของการดูดนม มารดาต้องทราบข้อมูลและต้องปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นส่วนที่กระตุ้นการสร้างน้ำนม มารดาต้องให้ลูกดูดนมวันละ 8-12 ครั้ง การนอนอยู่ใกล้ๆ หรือร่วมเตียงกับทารกจะทำให้มารดาสามารถจะสังเกตเห็นอาการต่างๆ ของทารกที่บ่งบอกเกี่ยวกับความต้องการในการดูดนมแม่จะช่วยให้มารดาให้นมได้บ่อยครั้งขึ้นตามความต้องการของทารก ควรหลีกเลี่ยงการใช้หัวนมหลอกเนื่องจากจะบดบังการหิวหรืออาการที่บอกถึงความต้องการการดูดนมแม่ของทารก และหลีกเลี่ยงการใช้นมผสมเนื่องจากจะทำให้การสร้างนมแม่ลดลงยกเว้นมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่จำเป็น

ส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ การให้ทารกดูดนมให้เกลี้ยงเต้า ส่วนนี้จะสำคัญในการกระตุ้นการสร้างน้ำนมมากกว่าความถี่ของการดูดนมแม่ หากทารกดูดนมไม่หมดเต้า การบีบนมออกหรือปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้าจะช่วยในการสร้างน้ำนมเช่นกัน โดยน้ำนมจะสร้างได้เร็วขึ้นเป็น 5 เท่าในเต้านมที่ระบายออกจนเกลี้ยงเต้ามากกว่าเต้านมที่ตึงและเต็มไปด้วยน้ำนม

นอกจากนี้ การให้มารดาผ่อนคลาย ไม่เครียด จะทำให้กลไกน้ำนมพุ่งทำงานได้ดี น้ำนมระบายได้ดี การสร้างน้ำนมแม่จะดีขึ้น การจัดบรรยากาศที่ผ่อนคลาย อาจทำโดยมารดาอาจนั่งในเก้าอี้หรือโซฟาที่นั่งสบาย จิบน้ำหรือเครื่องดื่ม ฟังเพลง ขณะที่ให้นมทารก โดยในบรรยากาศที่สบายนี้จะทำให้มารดาสามารถจะให้นมทารกได้นานและเกลี้ยงเต้ามากขึ้น

หนังสืออ้างอิง

1.???????????? Manganaro R, Mami C, Marrone T, Marseglia L, Gemelli M. Incidence of dehydration and hypernatremia in exclusively breast-fed infants. J Pediatr 2001;139:673-5.