รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? แม้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ปัจจุบันความห่างเหินกันระหว่างคนในครอบครัว ทำให้ความคุ้นเคยหรือการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่นน้อยลง กระบวนการที่จะดำเนินการให้แม่สามารถสามารถให้นมลูกได้เป็นก่อนกลับบ้านส่วนใหญ่จึงเป็นบทบาทของบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้ความรู้และช่วยเหลือให้แม่มีความมั่นใจที่จะให้นมลูกได้ก่อนกลับบ้าน ขณะที่แนวโน้มการอนุญาตให้มารดากลับบ้านหลังการคลอดบุตรในปัจจุบันจะมีช่วงเวลาที่สั้น โดยทั่วไปจะประมาณ 2 วันหลังการคลอด หากมารดาคลอดบุตรปกติทางช่องคลอด เริ่มการดูดนมแม่ เข้าเต้าเร็ว และมีการฝึกให้นมลูกบ่อย ๆ ก่อนมารดากลับบ้านมารดาจะได้รับการประเมินการให้นมลูก ซึ่งมักจะเป็นปัญหาในมารดาที่ผ่าตัดคลอดและการเริ่มต้นการให้นมลูกช้า ทำให้บางครั้งเมื่อมารดาได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน มารดายังขาดความมั่นใจในการให้นมลูกด้วยตนเอง ทำให้มารดาอ้างว้าง และหากขาดการให้คำแนะนำว่าควรไปปรึกษาใครหรือที่ใดที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการให้นมลูกได้ มารดาอาจหยุดให้นมแม่และเปลี่ยนมาให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่เป็นปัจจัยที่จะช่วยเตรียมมารดาให้มีความมั่นใจที่จะให้นมลูกได้เป็นก่อนกลับบ้าน คือระบบของโรงพยาบาลที่เอื้อให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยหากโรงพยาบาลที่คลอดเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก จะมีกระบวนการการเตรียมมารดาให้มีความพร้อมตั้งแต่ในช่วงฝากครรภ์ มีโรงเรียนพ่อแม่ มีการสอนการเข้าเต้า การบีบน้ำนมด้วยมือเพื่อเก็บน้ำนมหากมีความจำเป็นในช่วงหลังคลอดก่อนมารดากลับบ้าน และมีการประเมินว่ามารดาสามารถให้นมลูกได้เป็นโดยการสังเกตมารดาให้นมลูกหรือจะประเมินจากคะแนนการเข้าเต้า (LATCH score) ที่มากกว่า 8 อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบบ่อยคือ มารดาต้องกลับบ้านก่อนที่มารดาจะมีความมั่นใจในการให้นมลูก ดังนั้น จุดที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือ การนัดติดตามมารดาภายใน 3-7 วัน เพื่อมาติดตามและให้คำปรึกษาหรือฝึกสอนมารดาเพิ่มเติมมารดาให้มารดามีความมั่นใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยตนเองและไม่เปลี่ยนไปให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก นอกจากนี้ การให้มีคลินิกนมแม่ที่จะนัดติดตามดูแก้ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นที่พึ่งให้แก่มารดาและครอบครัวรวมทั้งมีช่องทางอื่น ๆ เช่น การให้คำปรึกษาทางไลน์ หรือ social media อื่น ๆ การเยี่ยมบ้าน การส่งมารดาให้แก่ทีมที่ให้ติดตามคำปรึกษาการเลี้ยงลูกนมแม่ในชุมชน เช่น ทีมบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลและเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขอย่างเป็นระบบ จะทำให้การดูแลสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปอย่างครบวงจร
เอกสารอ้างอิง
- การประชุมการจัดการความรู้ เลี้ยงนมแม่สำเร็จ เคล็ดวิธี ของมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ที่โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น ณ ห้องเกษตร กรุงเทพมหานคร วันที่ 24-25 เมษายน 2561