คลังเก็บป้ายกำกับ: อุปสรรคขัดขวางการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกหลังคลอด

อุปสรรคขัดขวางการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกหลังคลอด

IMG_1477

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?อุปสรรคที่ขัดขวางการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกหลังคลอดมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดและข้อแนะนำแนวทางแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ?ได้แก่

  • การบังคับให้มารดานอนอยู่บนเตียงระหว่างหลังคลอด มารดาบางคนต้องการที่จะนั่งเอนหลังกอดทารกไว้กับอกหรือเปลี่ยนท่าทางเพื่อความสบายตัวจะถูกจำกัดโดยการให้นอนอยู่บนเตียงโดยเฉพาะหากเป็นเตียงชั่วคราวที่ใช้สำหรับการย้ายเตียง จะแคบ นอนหรือนั่งไม่สบาย การลุกเดินของมารดาสามารถทำได้ แต่ควรระมัดระวังเรื่องอาการหน้ามืดที่พบบ่อยได้หลังคลอด ดังนั้นมารดาต้องการลุกเดินควรมีญาติหรือบุคลากรทางการแพทย์ช่วยดูแลในช่วงแรก
  • การขาดการให้กำลังใจหรือสนับสนุนจากสามีหรือคนใกล้ชิด ซึ่งจะช่วยในการสนับสนุนให้มารดาโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ ให้นมลูกและช่วยดูแลมารดาและลูกในช่วงที่มารดาฟื้นตัวใหม่ๆ ในระยะหลังคลอด
  • การงดการให้อาหารหรือน้ำเป็นเวลานานตั้งแต่ในระยะแรกของการคลอด ทำให้มารดาอ่อนเพลีย ไม่มีแรงที่จะอุ้มหรือประคองลูก
  • การให้ยาลดอาการปวดที่จะทำให้มารดาและทารกง่วงซึม หากทารกง่วงซึมจากการได้ยาลดอาการปวด การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกยิ่งจำเป็นเพื่อช่วยกระตุ้นสัมผัสทารก สนับสนุน สร้างความผูกพัน และช่วยในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ดีขึ้นด้วย
  • การตัดฝีเย็บและการเย็บแผล ทารกสามารถจะอยู่บนอกแม่ได้ หากมารดาจำเป็นต้องได้รับการเย็บแผลฝีเย็บหรือแผลผ่าตัดคลอด ไม่มีความจำเป็นต้องแยกทารกออกจากมารดาในระหว่างนี้
  • การให้น้ำเกลือ การติดเครื่องติดตามการเต้นของหัวใจทารก และการทำหัตถการอื่นที่ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ จะขัดขวางการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อได้
  • การห่อทารกจนแน่นเกินไปหลังคลอด จะขัดขวางการเคลื่อนไหวของทารกที่อาจคืบคลานไปหาเต้านมและเริ่มดูดนมได้
  • นโยบายแยกมารดาและทารกหลังคลอด
  • ความวิตกกังวลเรื่องทารกตัวเย็น ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการเช็ดตัวทารกให้แห้งและวางลงบนหน้าอกมารดา จากนั้นใช้ผ้าห่มคลุมทั้งทารกและมารดา หากอุณหภูมิในห้องเย็น อาจคลุมศีรษะทารกหรือสวมหมวกเพื่อลดการสูญเสียความร้อน ทารกที่ได้โอบกอดเนื้อแนบเนื้อกับมารดาจะควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ดีกว่าทารกที่อยู่ในบริเวณที่อุ่นด้วยเครื่องทำความร้อน
  • การตรวจร่างกายทารก การตรวจทารกสามารถทำได้ขณะทารกอยู่บนอกแม่ ซึ่งทารกจะสงบ สำหรับการชั่งน้ำหนักสามารถทำหลังจากนั้น
  • การอาบน้ำ การอาบน้ำตั้งแต่แรกควรชะลอไว้ก่อน รอให้ไขของทารกที่อยู่บนผิวได้เคลือบ หล่อลื่น และช่วยรักษาอุณหภูมิของทารก การเช็ดตัวทารกให้แห้งเพียงพอแล้วสำหรับทารกระยะแรกหลังคลอด
  • ห้องคลอดยุ่ง หากห้องคลอดยุ่ง ทารกและมารดาอาจได้รับการย้ายมาที่หอผู้ป่วยเพื่อให้ทารกได้โอบกอดเนื้อแนบเนื้อในระยะแรกและทำต่อเนื่องที่หอผู้ป่วยได้
  • ไม่มีบุคลากรเพียงพอที่จะอยู่กับมารดาและทารก อาจพิจารณาให้สามีหรือสมาชิกในครอบครัวสามารถจะเฝ้าอยู่กับมารดาและทารกได้
  • มารดาเหนื่อย1 ส่วนใหญ่มารดาน้อยมากที่จะเหนื่อยมากจนไม่อยากอุ้มลูก การได้โอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ จะทำให้มารดาผ่อนคลาย บุคลากรควรทบทวนแนวทางการปฏิบัติต่างๆ ด้วยว่ามีการปฏิบัติใดที่ทำให้มารดารู้สึกเหนื่อยหรือหมดแรง เช่น การงดน้ำงดอาหาร การคลอดที่เนิ่นนานเกินไป เป็นต้น
  • มารดาไม่ต้องการอุ้มลูก การที่มารดาไม่ต้องการอุ้มลูกอาจจะบ่งถึงว่า มารดาอาจมีภาวะซึมเศร้าหรือมีความเสี่ยงที่จะทอดทิ้งลูก การให้มารดาได้สัมผัสกับลูกจะลดความเสี่ยงเหล่านี้

เอกสารอ้างอิง

  • Habib FA. Monitoring the practice and progress of initiation of breastfeeding within half an hour to one hour after birth, in the labor room of king khalid university hospital. J Family Community Med 2003;10:41-6.