รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การมีบุตรยาก การที่สตรีที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จะส่งผลทำให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติจากการที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง ทำให้การตกไข่ผิดปกติหรือไม่มีการตกไข่ ซึ่งทำให้การมีบุตรยาก
การมีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก การที่รังไข่ทำงานผิดปกติ ไม่มีการตกไข่ จะส่งผลต่อการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกของสตรีได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างเดียวเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว (endometrial hyperplasia) ซึ่งหากไม่มีการปรับสมดุลย์จากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สร้างจาก corpus luteum จากการตกไข่ จะมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้1
เอกสารอ้างอิง
- Rosenfield RL. The Diagnosis of Polycystic Ovary Syndrome in Adolescents. Pediatrics 2015;136:1154-65.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การมีสิว (acne) ลักษณะของการมีสิวที่บ่งถึงการมีภาวะฮอร์โมนเพศชายมากจะเป็นสิวลักษณะที่มีการอุดตัน หรือสิวอักเสบ (acne vulgaris) โดยพบมากกว่า 10 จุดขึ้นไปบนใบหน้า1,2
การมีประจำเดือนผิดปกติ โดยลักษณะที่ผิดปกติของประจำเดือนที่แสดงการไม่มีไข่ตก ได้แก่ การมีประจำเดือนมาห่าง (oligomenorrhea) คือมีประจำเดือนมาน้อยกว่าปีละ 9 ครั้ง หรือการมีประจำเดือนขาด (amenorrhea) คือมีประจำเดือนขาดต่อกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีแรกของการมีประจำเดือนจะพบมีความผิดปกติของประจำเดือนได้บ่อย ดังนั้น ในวัยรุ่นลักษณะของประจำเดือนที่ผิดปกติที่ทำให้สงสัยกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ควรจะมีความผิดปกติของประจำเดือนที่ต่อเนื่องนานสองปี หรือนานหนึ่งปีหากมีอาการร่วมอย่างอื่นที่บ่งถึงกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่
เอกสารอ้างอิง
- Rosenfield RL. The Diagnosis of Polycystic Ovary Syndrome in Adolescents. Pediatrics 2015;136:1154-65.
- Ibanez L, Oberfield SE, Witchel S, et al. An International Consortium Update: Pathophysiology, Diagnosis, and Treatment of Polycystic Ovarian Syndrome in Adolescence. Horm Res Paediatr 2017;88:371-95.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
อาการและลักษณะที่ตรวจพบทางคลินิกของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จะพบอาการที่แสดงถึงการมีฮอร์โมนเพศชายมาก และ/หรือลักษณะที่บ่งถึงการทำงานของรังไข่ที่ผิดปกติ โดยที่อาการนำที่สตรีจะมาพบแพทย์ ได้แก่
การมีขนดก (hirsutism) การที่จะให้การวินิจฉัยว่ามีขนดกที่แสดงถึงการมีฮอร์โมนเพศชายมากนั้น จะมีความแตกต่างกันในเกณฑ์การวินิจฉัยในแต่ละเชื้อชาติ โดยจะใช้การให้คะแนนการมีขนดกของเฟอร์ริแมนและกอลล์เวย์ที่มีการปรับแต่ง (modified Ferriman-Gallwey hirsutism scoring system) ในการตัดสิน ซึ่งจะมีบริเวณที่ประเมินการมีขนดก 9 แห่ง ประกอบด้วย บริเวณเหนือริมฝีปากบน คาง หลังส่วนบน หลังส่วนล่าง หน้าอก หน้าท้องส่วนบน หน้าท้องส่วนล่าง ท่อนแขนส่วนบน และต้นขา โดยแต่ละบริเวณจะมีการให้คะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 4 ซึ่งคะแนน 0 หมายถึงไม่พบขนเส้นใหญ่และหยาบ (terminal hair) เลย ขณะที่คะแนน 4 หมายถึงมีขนเส้นใหญ่และหยาบจำนวนมาก คะแนนเต็มของเกณฑ์คือ 36 ในสหรัฐอเมริกาใช้จุดตัดการมีขนดกคือคะแนนตั้งแต่ 8 ขึ้นไป สำหรับในคนไทยและจีนใช้จุดตัดคะแนนตั้งแต่ 3 ขึ้นไป1
เอกสารอ้างอิง
- Escobar-Morreale HF, Carmina E, Dewailly D, et al. Epidemiology, diagnosis and management of hirsutism: a consensus statement by the Androgen Excess and Polycystic Ovary Syndrome Society. Hum Reprod Update 2012;18:146-70.
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)