คลังเก็บป้ายกำกับ: หลังคลอดใหม่ มารคาไม่ควรขึ้นบันไดจริงไหม

หลังคลอดใหม่ มารคาไม่ควรยกของหนักจริงไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           ข้อมูลนี้เป็นจริง เนื่องจากมารดาที่คลอดปกติแม้จะไม่มีแผลบริเวณหน้าท้อง แต่หลังคลอดใหม่ยังมีการหย่อนของเส้นเอ็นที่ยึดตัวมดลูกร่วมกับขนาดมดลูกจะมีขนาดใหญ่ ดังนั้น เมื่อยกของหนัก (ของหนัก หมายถึงของที่หนักตั้งแต่ 4.5 กิโลกรัมขึ้นไป) การเกร็งผนังหน้าท้องจะเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้มดลูกที่ไม่กลับเข้าที่เกิดการหย่อนลงไปต่ำกว่าปกติ ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดภาวะกระบังลมหย่อนเมื่อมารดาอายุมากขึ้น โดยหากหย่อนมากจะพบปากมดลูกโผล่ออกมาจากช่องคลอดได้ ดังนั้น ควรรอให้มดลูกเริ่มมีขนาดเล็กลงและเส้นเอ็นที่ยึดมดลูกตึงยึดมดลูกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมได้ดีขึ้นราว 1 สัปดาห์ สำหรับในกรณีที่ผ่าตัดคลอด การยกของหนักจะทำให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อผนังหน้าท้องที่มีบาดแผลจากการผ่าตัดคลอด ทำให้เกิดการเจ็บหรือหากรุนแรงอาจมีภาวะแผลแยกได้ โดยแผลที่ผ่าตัดแนวยาวตามลำตัวจะมีอาการปวดระบมมากกว่าแผลผ่าตัดแนวขวาง1 ดังนั้น หากผ่าตัดคลอด การยกของหนักควรจะทำเมื่อแผลผ่าตัดยึดกันได้ดีราวร้อยละ 80 ซึ่งจะใช้เวลาราว 4 สัปดาห์หลังการผ่าตัด

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

หลังคลอดใหม่ มารคาไม่ควรขึ้นบันไดจริงไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ข้อมูลนี้เป็นจริง เนื่องจากมารดาที่คลอดปกติจะมีแผลบริเวณปากช่องคลอดหรือแผลจากการตัดฝีเย็บ เมื่อต้องยกขาขณะขึ้นบันได มารดาจะปวดหรือขัด หากสามารถทำได้ ควรแนะนำมารดาควรนอนชั้นล่างของบ้านและมีห้องน้ำอยู่ใกล้ ๆ หรือในห้องเพื่อดูแลเรื่องน้ำคาวปลาและดูแลแผล1 สำหรับมารดาที่ผ่าตัดคลอดหากแผลผ่าตัดในแนวเดียวกับลำตัวหรือแนวตั้ง การขึ้นบันไดจะมีการเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้องที่อาจมีผลทำให้เกิดการเจ็บระบมได้ แต่หากแผลผ่าตัดคลอดในแนวขวางหรือแนวบิกินี จะมีการปวดจากการเกร็งหน้าท้องน้อยกว่า ควรรอประมาณ 1-4 สัปดาห์หลังคลอดขึ้นอยู่กับขนาดและความรุนแรงของแผล และเมื่ออาการปวดระบมแผลดีขึ้น การขึ้นบันไดก็สามารถทำได้

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.