รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โดยทั่วไป ความเชื่อของมารดาเกี่ยวกับอาหารที่รับประทานกับสารอาหารในนมแม่ก็คือ “หากมารดารับประทานอะไร ลูกที่กินนมแม่ก็มักจะได้รับสารอาหารเช่นเดียวกันกับมารดาที่รับประทานอาหารนั้น ซึ่งในความเชื่อนี้ส่วนใหญ่ถูกต้อง” เนื่องจากอาหารหรือสิ่งที่มารดารับประทานเข้าไปจะได้รับการย่อยและดูดซึมเข้ากระแสเลือด ซึ่งจากกระแสเลือดก็จะมีการไหลผ่านไปที่ต่อมน้ำนม ซึ่งสารอาหารเหล่านั้นก็จะผ่านไปยังน้ำนมและเป็นส่วนหนึ่งของส่วนประกอบของน้ำนม แต่หากดูที่สารอาหารส่วนใหญ่และปริมาณพลังงานที่ทารกจะได้รับจากนมแม่แล้วพบว่า ส่วนประกอบของนมแม่ส่วนใหญ่และปริมาณพลังงานที่ทารกจะได้รับจากนมแม่นั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอาหารที่มารดารับประทาน รวมทั้งหากมารดากินอาหารไม่ครบหมู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับมีภาวะทุพโภชนาการที่เรื้อรังแล้ว การผลิตนมแม่ก็ยังทำได้ดี โดยที่ส่วนประกอบของนมแม่ที่เป็นหลักรวมทั้งพลังงานที่ได้จากนมแม่ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน สำหรับสารอาหารที่ร่างกายต้องการในปริมาณที่น้อยและกรดไขมันนั้น บางตัวจะขึ้นอยู่กับความครบถ้วนของสารอาหารที่มารดารับประทานเข้าไป1 หากมารดาอยู่ในพื้นที่ที่พบว่ามีความชุกของการขาดสารอาหารบางตัวบ่อย การแนะนำให้มารดารับประทานสารอาหารเพิ่มเติมในมารดาและทารกอาจมีความจำเป็น โดยที่ต้องมีการศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาที่จำเพาะในแต่ละพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับบริบทและความชุกของการขาดแคลนสารอาหารที่พบในพื้นที่นั้น ๆ
เอกสารอ้างอิง
- Geddes D, Perrella S. Breastfeeding and Human Lactation. Nutrients 2019;11.