รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ?การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี แต่ในสตรีที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน และจะมาเริ่มออกกำลังกายมากในขณะให้นมบุตร อาจทำให้ร่างกายอ่อนล้ามาก ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย และอาจไม่มีเวลาที่จะใส่ใจในการให้นมบุตรเนื่องจากร่างกายต้องการการพักผ่อน แต่สำหรับสตรีที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว สามารถออกกำลังกายได้ โดยในสตรีที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะมีการผลิตกรดเเลคติก (lactic acid) ที่เพิ่มขึ้นในกระแสเลือด และจะมีปริมาณกรดเเลคติกเพิ่มขึ้นในน้ำนมด้วย ซึ่งปริมาณกรดเลคติกที่เพิ่มขึ้นนี้จะกลับเข้าสู่ระดับปกติหลังจากมารดาออกกำลังกายแล้วราว 30 นาที ปริมาณกรดเเลคติกที่เพิ่มขึ้นในน้ำนมนั้น ไม่ได้เป็นอันตรายแก่ทารก แต่อาจเปลี่ยนแปลงรสชาติของน้ำนมแม่ได้ โดยกรดเเลคติกจะมีรสขมและเปรี้ยว1 ทำให้ทารกอาจปฏิเสธการกินนมแม่ในมารดาหลังจากออกกำลังกายใหม่ๆ ได้ มีข้อแนะนำสำหรับมารดาที่ออกกำลังกายในระหว่างการให้นมบุตร ดังนี้
- หากมารดามีน้ำนมเต็มเต้า ควรให้ทารกกินนมก่อนการออกกำลังกาย หรืออาจบีบหรือปั๊มนมเก็บก่อนการออกกำลังกาย ทารกจะกินนมได้ปกติเนื่องจากรสชาตินมไม่เปลี่ยนแปลง
- หลังการออกกำลังกาย หากทำได้เว้นระยะการให้นมบุตรราว 30 นาทีจะทำให้ระดับกรดแลคติกในน้ำนมลดลงสู่ระดับปกติ
- หากจำเป็นต้องให้นมแม่หลังการออกกำลังกายทันที เช็ดเหงื่อออกจากเต้านมด้วยสำลีชุบน้ำสะอาด บีบน้ำนมในช่วงแรกออกประมาณ 5 มิลลิลิตรหรือ 1 ช้อนชา แล้วจึงให้ทารกกินนมแม่ หากทารกปฏิเสธและมีสีหน้าที่บ่งบอกถึงรสชาติของน้ำนมที่เปรี้ยวหรือขม อาจทิ้งระยะสักครู่โดยโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ แล้วจึงให้ทารกกลับมากินนมอีกครั้ง หรืออาจนำนมแม่ที่บีบเก็บไว้ก่อนการออกกำลังกายมาให้ทารกก่อนก็ได้
??????????? นอกจากนี้ แม้ในมารดาที่ออกกำลังกายโดยการวิ่งจ๊อกกิ้งขณะน้ำนมเต็มเต้าและไม่สวมชุดชั้นในพยุงทรงก็ยังไม่มีข้อมูลที่แสดงว่าจะส่งผลทำให้เต้านมหย่อนยาน อย่างไรก็ตาม แนะนำมารดาควรใส่ชุดชั้นในพยุงทรงเพื่อรองรับน้ำหนักเต้านมที่เพิ่มขึ้น และไม่กดทับการระบายของท่อน้ำนม
เอกสารอ้างอิง
- Wallace JP, Ernsthausen K, Inbar G. The influence of the fullness of milk in the breasts on the concentration of lactic acid in postexercise breast milk. Int J Sports Med 1992;13:395-8.