คลังเก็บป้ายกำกับ: ระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สัมพันธ์กับความฉลาดของทารก

ระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ส่งผลต่อสัญชาตญาณความเป็นแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? สัญชาตญาณความเป็นแม่แม้เป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่การเข้าใจกระบวนการที่จะส่งผลให้เกิดสัญชาตญาณของความเป็นแม่ที่พบแตกต่างกันในมารดาแต่ละคน ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และอาจเป็นคำถามทางการแพทย์ที่ต้องการคำอธิบายที่จะตอบคำถามนี้ สัญชาตญาณความเป็นแม่นั้นจะประกอบด้วยความรักความห่วงใยลูกและการปฏิบัติดูแลที่ต้องการให้ทารกได้รับอาหารที่ดีและเหมาะสมที่สุด ซึ่งก็คือการให้ลูกได้กินนมแม่ ในเรื่องความรักความห่วงใยและการให้ลูกกินนมแม่นั้นมีความสัมพันธ์กันโดยอธิบายผ่านกลไกของฮอร์โมนออกซิโทซิน การคิดถึงหรือเป็นห่วงเป็นใยทารกจะกระตุ้นการทำงานของออกซิโทซิน ดังนั้นฮอร์โมนออกซิโตซินเป็นฮอร์โมนที่ถูกเรียกว่า ฮอร์โมนแห่งความรัก เมื่อมีการหลั่งของฮอร์โมนออกซิโทซินก็จะช่วยในการหลั่งของน้ำนมและช่วยในการที่มารดาจะให้นมแม่แก่ลูก ในทางกลับกัน การดูดนมของทารกก็จะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนออกซิโทซิน มีการศึกษาสนับสนุนในเรื่องนี้ โดยพบว่า ระยะของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีความสัมพันธ์กับสัญญาตญาณความเป็นแม่ ก็คือ หากทารกกินนมแม่นานจะพบสัญญาตญาณความเป็นแม่ได้นานกว่าและความผูกพันระหว่างมารดาและทารกจะมีมากและนานกว่า1 ซึ่งส่งผลดีต่อการดูแลเอาใจใส่ทารกและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของทารกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Weaver JM, Schofield TJ, Papp LM. Breastfeeding duration predicts greater maternal sensitivity over the next decade. Dev Psychol 2018;54:220-7.

 

ระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สัมพันธ์กับความฉลาดของทารก

img_2196

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?แม่มักต้องการมีลูกที่ฉลาด ซึ่งพื้นฐานของความฉลาดเบื้องต้นก็มาจากอาหารที่ทารกรับประทาน และอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกแรกเกิดก็คือ นมแม่ ที่มีสารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะกรดไขมันต่าง ๆ ที่จำเป็นในการพัฒนาของสมอง มีการศึกษาพบว่าระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สัมพันธ์กับไอคิวของทารกที่สูงขึ้น เช่นเดียวกันกับการพบว่ากรดไขมันที่มีอยู่ในนมแม่สัมพันธ์กับไอคิวที่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดูเหมือนจะมีผลมากกว่า1 แต่ในสภาพความเป็นจริงในมารดาที่เอาใจใส่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และให้ลูกกินนมแม่นาน มักจะรับประทานอาหารที่บำรุงตนเองอยู่แล้ว การให้นมแม่จึงมักมาร่วมกับสารอาหารที่ครบถ้วนและเสริมสร้างการบำรุงสมอง นอกจากนี้ ในนมแม่มีภูมิคุ้มกันที่ช่วยให้ลูกเจ็บป่วยน้อยและมีความแข็งแรง จึงต้องนำเสนอว่า มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน จะช่วยให้ลูกฉลาดและมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงมากกว่ามารดาที่ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่ และแม่ที่ต้องการให้ลูกฉลาดก็ควรให้ลูกกินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Bernard JY, Armand M, Peyre H, et al. Breastfeeding, Polyunsaturated Fatty Acid Levels in Colostrum and Child Intelligence Quotient at Age 5-6 Years. J Pediatr 2017.